วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2559
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ของมูลนิธิชัยพัมนา ในการนี้ทรงเยี่ยมกลุ่มผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ตำบลหนองโดน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ เกิดขึ้นจากการที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสำรองพันธุ์ข้าวหอมมะลิให้มีคงไว้ ในกรณีที่ประเทศมีภาวะฉุกเฉินหรือประสบภัยที่ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิประสบปัญหา ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่จะหาพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ดีมีคุณภาพมาทดแทนให้เกษตรกรได้ยาก
โดยเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 เกิดอุทกภัยขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักว่า อุทกภัยครั้งนี้ ได้ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัด เป็นระยะเวลายาวนาน และทรงทราบว่าราษฎรในพื้นที่อำเภอลำปลายมาศ และอำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับความเดือดร้อนน้ำท่วมบ้านและที่นาเสียหาย ทรงห่วงใยว่าในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ราษฎรมีรายได้หลักจากการทำนาข้าวหอมมะลิ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะปลูกได้เพียงปีละ หนึ่งครั้ง เมื่อประสบอุทกภัย ราษฎรจึงสูญเสียรายได้หลักทั้งปีของตนไป
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้พระราชทานพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 จำนวน 185.6 ตัน ที่สำรองไว้ที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ แก่ราษฎรในอำเภอลำปลายมาศ และอำเภอชำนิ ที่ได้รับความเดือดร้อน ที่นาถูกน้ำท่วมเสียหาย จำนวน 953 ราย พื้นที่เพาะปลูกทั้งสิ้น 12,373 ไร่ และได้มีรับสั่งให้มูลนิธิชัยพัฒนา ชักชวนราษฎรอำเภอลำปลายมาศ และอำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ เข้าร่วมโครงการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดี สะสมสำรองไว้สำหรับพระราชทานราษฎรในยามวิกฤต
ราษฎรในชุมชนตำบลหนองโดน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ แสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ในปี 2557 ตั้งคณะกรรมการบริหารงานภายในกลุ่ม เพื่อดำเนินกิจกรรมของกลุ่มให้มีประสิทธิภาพ มีคณะกรรมการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว ช่วยดูแลกันและกันตั้งแต่ในแปลงนาจนถึงการเก็บเกี่ยว ปลูกโดยวิธีปักดำเท่านั้น เก็บเกี่ยวด้วยมือหรือรถเกี่ยวข้าวที่สะอาด เพื่อป้องกันการปนของข้าวพันธุ์อื่นหรือข้าวเมล็ดแดง
มูลนิธิชัยพัฒนา จะให้กรรมการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว คือ เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืช จักรพันธ์เพ็ญศิริ ประธานกลุ่ม สมาชิกกลุ่ม และเจ้าของแปลงนา ร่วมกันตรวจสอบตรวจแปลงนาและตรวจสอบพันธุ์ข้าวที่เก็บเกี่ยวขึ้นมาจากแปลงนา
การตรวจสอบจะสุ่มตัวอย่างข้าว 1 กิโลกรัม เพื่อวัดความชื้นและตรวจสอบหาข้าวปน ทดสอบเช่นนี้ 2 ครั้ง โดยราคาพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐานเข้าเกณฑ์เป็นข้าวพันธุ์พระราชทานของมูลนิธิชัยพัฒนาจะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจากราคาข้าวของกรมการค้าภายใน เพื่อเป็นรางวัลในการผลิตข้าวอย่างประณีตและมีคุณภาพ
ในปี 2558 กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ตำบลหนองโดน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ผลิตพันธุ์ข้าวผ่านเกณฑ์เป็นพันธุ์ข้าวพระราชทาน ได้ 28 ตัน 64 กิโลกรัม
ในวันนี้ ทรงมีพระราชปฏิสันถารและมีรับสั่งให้กำลังใจแก่ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการ ด้วยทรงทราบว่า การผลิตพันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพ เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความมานะอดทน ต้องมีความละเอียดประณีตในการผลิต ทุกขั้นตอน นับแต่การเตรียมดิน การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ การปลูกด้วยการปักดำ การดูแลเอาใจใส่ในการกำจัดวัชพืชและข้าวปน รวมทั้งการใส่ใจในการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง เพื่อให้ข้าวมีคุณภาพดี จนกระทั่งขั้นตอนสุดท้ายที่ส่งมอบมายังมูลนิธิชัยพัฒนา
และได้พระราชทานกิ่งพันธุ์ไม้ผลและไม้ยืนต้นที่รับประทานได้มาเพื่อปลูกในบ้านและตามที่สาธารณะ ตามที่มีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนา ทำโครงการ ‘ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน’ ต่อเนื่องจากโครงการ ‘บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง’ นอกจากนี้ ทรงปล่อยพันธุ์ปลานิลจิตรลดา จากโครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านเกาะกา จังหวัดนครนายก
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำทุ่งใหญ่ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ และเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการเลี้ยงไก่กระดูกดำพระราชทาน ที่บ้านนางสร้อย สายกระสุน และนายไอศูรย์ เสาโร เลขที่ 59 ตำบลหนองโดน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์