สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว
วันอังคารที่ 10 มีนาคม 2552 เวลาประมาณ 15.00 น.
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว เป็นการส่วนพระองค์
โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ เป็นโรงเรียนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นโรงเรียนฝึกกระบือ และให้เกษตรกรมาใช้ชีวิตที่เกี่ยวข้องกับกระบือเพื่องานเกษตรกรรม
มูลนิธิชัยพัฒนาได้ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ขึ้นเรียบร้อยแล้ว พื้นที่ภายในโรงเรียนสามารถแบ่งออกได้เป็น 7 ส่วน คือ
โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ มีกระบือทั้งหมด 26 ตัว เป็นกระบือทรงเลี้ยงที่มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวาย ในจำนวนนี้ มีกระบือผู้ให้ความรู้ 17 ตัว ส่วนกระบือผู้เรียนรู้นั้น จะเป็นกระบือจากธนาคารโคกระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ ในปีแรกจะทำการฝึกจำนวนรุ่นละ 5 ตัว ปีละ 10 รุ่น ใน 1 ปี จะมีกระบือผ่านการอบรมรวม 50 ตัว และจะเพิ่มจำนวนกระบือผู้เรียนรู้ เมื่อการฝึกได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
เกษตรกรผู้ที่จะรับกระบือจากโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จะต้องเป็นผู้ที่มีความตั้งใจในการนำกระบือไปใช้ในการเกษตรของตนอย่างจริงจัง และจะต้องเข้าพักอาศัยในโรงเรียน ฝึกกับครูฝึกสอนผู้ใช้กระบือของโรงเรียน ซึ่งเป็นปราชญ์ท้องถิ่นที่มีความชำนาญในการฝึกและควบคุมกระบือเพื่อใช้ในการเกษตร นอกจากนี้ เกษตรกรจะได้รับความรู้ทั้งด้านการเลี้ยง และดูแลกระบือ การจัดการเรื่องหญ้าและอาหารกระบือ การปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ผสมผสาน และการใช้ชีวิตแบบพอเพียง นับเป็นการฝึกกระบือให้ทำการเกษตรได้ดี ทั้งยังฝึกคนให้เข้าใจถึงวิธีการใช้และดูแลกระบือในการทำเกษตรกรรม
การดำเนินการจัดสร้างโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ จังหวัดสระแก้ว กรมปศุสัตว์ กรมการข้าว กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง ทางหลวงชนบท ทั้งยังได้มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกันระหว่างโครงการพระราชดำริ โดยได้นำราษฎรในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้ามาถ่ายทอดความรู้ระดับท้องถิ่นสู่ท้องถิ่น เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และภูมิปัญญาในระดับชาวบ้านด้วยกัน
มูลนิธิชัยพัฒนาได้จัดตั้งโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ที่จะให้มีที่ผลิตกระบือที่มีความสามารถในการทำเกษตรกรรมได้อย่างดี เพื่อให้เกษตรกรที่รับกระบือจากโรงเรียนไป สามารถใช้กระบือดังกล่าวทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกษตรกรจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเองและการอยู่อย่างพอเพียงตามแนวพระราชดำริ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิต ดูแลสภาพแวดล้อม และรักษาธรรมชาติ สามารถอยู่ร่วมกันเกื้อกูลกันสืบต่อไป