สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาในเขตจังหวัดสตูลและเกาะลังกาวี
วันที่ 2-4 มีนาคม 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาในเขตจังหวัดสตูลและเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ดังนี้
วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม 2552
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปยังท่าเทียบเรือตำมะลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินการต่อเรือเร็ว ซึ่งบริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงใช้ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา จากนั้น ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดโครงการ โครงการเชื่อมโยงกระแสไฟฟ้าด้วยสายเคเบิ้ลใต้น้ำไปยังเกาะปูยูและเกาะยาว
จากนั้น พระดำเนินไปยังบริเวณคานเรือ เพื่อทรงเจิมหัวเรือ ทรงคล้องพวงมาลัย และทอดพระเนตรการปล่อยเรือลงคลองตำมะลัง เรือเร็วดังกล่าวนี้ บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงใช้ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นเรือขนาด 37 ฟุต เครื่องยนต์ 250 แรงม้า 2 เครื่อง ความกว้าง 9 ฟุต ลึก 4.5 ฟุต กินน้ำลึก 2 ฟุต น้ำหนักเรือ 3 ตัน ผู้โดยสาร 26-30 คน
วันอังคารที่ 3 มีนาคม 2552
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปยังหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล เพื่อทรงเปิดศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์ประมงชุมชนดั้งเดิมฝั่งอันดามัน เกาะหลีเป๊ะ ของกรมประมง
จากนั้นประทับเรือยางพระที่นั่ง เสด็จฯ ไปยังโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เพื่อทรงเปิดอาคารเรียนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระราชทานสิ่งของแก่ผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้แทนนักเรียนชาย-หญิง ทอดพระเนตรห้องสมุด ห้องสาธิตการเรียนการสอน ทอดพระเนตรห้องปฏิบัติการมัคคุเทศก์และห้องปฏิบัติการขนมอบ ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทานและราษฎร
โรงเรียนบ้านเกาะอาดัง ตั้งอยู่ที่หมู่ 7 เกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล มีบุคลากร 16 คน นักเรียนประมาณ 200 คน สอนตั้งแต่อนุบาล ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นโรงเรียนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา
เนื่องจากโรงเรียนบ้านเกาะอาดังได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ปี 2550 เพื่อก่อสร้างอาคารเรียน ขนาด 5 ห้องเรียน จำนวน 1 หลัง ซึ่งงบประมาณดังกล่าวไม่เพียงพอสำหรับการก่อสร้างในเขตพื้นที่ที่เป็นเกาะ เนื่องจากการขนส่งวัสดุไปยังเกาะต้องมีค่าใช้จ่ายสูง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานงบประมาณจากกองทุนบูรณะฟื้นฟูภาคใต้ของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด(มหาชน) เพื่อให้สามารถก่อสร้างอาคารเรียนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ได้สำเร็จ และเป็นขวัญกำลังใจแก่นักเรียนและครูของโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง
นอกจากนี้ วิถีการดำเนินชีวิตของชาวเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งเป็นชาวเลในกลุ่มที่เรียกว่า ชาวอูรักลาโวย จะทำประมงพื้นบ้านและการท่องเที่ยว โดยการรับจ้างขับเรือพานักท่องเที่ยวไปยังจุดดำน้ำและเกาะต่างๆ รวมทั้งการเป็นลูกจ้างในรีสอร์ท จึงทำให้นักเรียนไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการเรียนหนังสือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดทำ โครงการสอนภาษาอังกฤษแก่นักเรียนโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง เพื่อส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศเพิ่มเติมจากการเรียนในภาคปกติ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต การทำอาชีพประมง รวมทั้งในเรื่องของการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว และรวมไปถึงสุขอนามัยทั่วไป เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กนักเรียนสามารถสื่อสารกับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ และมีความรู้รอบตัวที่กว้างไกลขึ้น
การดำเนินงานที่ผ่านมา สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้คัดเลือกและจัดส่งอาสาสมัครชาวต่างชาติ สอนภาษาอังกฤษ ภาคการศึกษาละ 1-2 คน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2549 จนถึงปัจจุบันได้ส่งอาสาสมัครไปแล้ว 6 คน นักเรียนมีพัฒนาการทางภาษาอังกฤษดีขึ้นเล็กน้อย
เนื่องจากวิถีชีวิตที่ต้องเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวมาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชดำริเพิ่มเติมให้โรงเรียนจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการประกอบอาชีพที่สอดคล้อง และเป็นความต้องการของท้องถิ่น เพื่อให้นักเรียนได้มีอาชีพติดตัวและสามารถประกอบอาชีพในอนาคตได้ รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสและเป็นพื้นฐานที่ดีแก่นักเรียนที่มีความประสงค์ที่จะศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น การจัดทำหลักสูตรของโรงเรียนเน้นความต้องการของนักเรียนและสอดคล้องกับสภาพท้องถิ่น โดยได้รับความร่วมมือ คำแนะนำ และความช่วยเหลือจากหน่วยราชการในท้องถิ่น ผู้ชำนาญการและเจ้าของกิจการในท้องถิ่น วิทยากรทั้งภายในและภายนอกท้องถิ่น ซึ่งหลักสูตรของโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง ประกอบด้วย หลักสูตรมัคคุเทศก์ และหลักสูตรขนมอบ
จากนั้น เสด็จฯ ไปยังเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปยัง โรงเรียน Kebangsaan Seri Negeri เพื่อทอดพระเนตรระบบการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนซึ่งเป็นโรงเรียนในระดับประถม โอกาสนี้ พระราชทานข้าวสารและหนังสือแก่ผู้บริหารโรงเรียน ทอดพระเนตรห้องสมุด อาคารคอมพิวเตอร์ และทอดพระเนตรการสาธิตการเรียนการสอน โรงเรียน Seri Negari เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาขนาดใหญ่ที่สุดในลังกาวี มีระยะเวลาในการเรียน 6 ปีเช่นเดียวกับประเทศไทย โดยรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนทั้งหมด เปิดการเรียนการสอนโดยแบ่งเป็น 1 รอบ คือ รอบเช้า 07.30 - 11.30 น. พร้อมทั้งมีบริการอาหารให้แก่นักเรียน วันละ 6 มื้อ คือ อาหารเช้า อาหารกลางวัน และอาหารว่าง โรงเรียน Seri Negari มีอาคารเรียนรวม จำนวน 4 อาคารเรียน มีบุคลากรและครูผู้สอนมีจำนวน 81 คน และนักเรียนจำนวน 1,508 คน มุ่งเน้นการเรียนการสอนให้นักเรียนมีความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ควบคู่กับการสั่งสอนด้านคุณธรรมและความกตัญญู ผลงานที่สำคัญของโรงเรียนฯ ได้แก่ รางวัลผลการสอบวัดความรู้ระดับประถมศึกษาของประเทศดีเด่นเป็นอันดับ 2 ของเกาะลังกาวี รางวัลชนะเลิศการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาดีเด่นในระดับอำเภอ รางวัลชนะเลิศการจัดการศูนย์สื่อการเรียนการสอนดีเด่นระดับประเทศ รางวัลชนะเลิศการจัดภูมิทัศน์ดีเด่นระดับรัฐ และรางวัลชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอล การแข่งขันโบว์ลิ่ง และการแข่งขันเรือใบระดับอำเภอ จากนั้น เสด็จฯ ไปยัง โรงเรียน Kabangsaan Tunku Putra เพื่อทอดพระเนตรการลงนามความร่วมมือในโครงการความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนากับรัฐเคดะห์ โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการสาธิตการเรียนการสอนในชั้นเรียน ทอดพระเนตรนิทรรศการและการแสดงของนักเรียน และพระราชทานข้าวสารและหนังสือแก่ผู้บริหารโรงเรียน
โรงเรียน Kabangsaan Tunku Putra เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา มีระยะเวลาในการเรียน 6 ปี ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล รับทั้งนักเรียนภาคปกติ และนักเรียนประจำ โดยเปิดการเรียนการสอนโดยแบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบเช้า 7.30 - 11.30 น. และรอบบ่าย 13.00 - 16.00 น. พร้อมทั้งมีบริการอาหารให้แก่นักเรียน วันละ 6 มื้อ คือ อาหารเช้า อาหารกลางวัน และอาหารว่างสำหรับนักเรียนรอบเช้า และอาหารกลางวัน อาหารเย็น และอาหารว่างสำหรับนักเรียนรอบบ่าย ปัจจุบันมีจำนวนบุคลากรและครู รวม 119 คน และมีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 1,744 คน จัดแบ่งการเรียนการสอนเป็น 2 ภาคการศึกษา โดยเริ่มเปิดการเรียนการสอนในเดือนมกราคมของทุกปีเช่นเดียวกับปีปฎิทิน เน้นการเรียนการสอนโดยแบ่งเป็น 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์-เทคโนโลยี และสาขาวิชาภาษาศาสตร์-สังคมศาสตร์ ผลงานที่สำคัญของโรงเรียน ได้แก่ รางวัลชนะเลิศผลการสอบวัดความรู้ระดับมัธยมศึกษาดีเด่นในระดับประเทศ รางวัลชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนระดับรัฐ และระดับประเทศ โดยการส่งนักฟุตบอลของโรงเรียนฯ เข้าเก็บตัวร่วมกับสโมสรฟุตบอลในประเทศอังกฤษ รางวัลชนะเลิศโครงการการป้องกันยาเสพติดระดับประเทศ โดยได้จัดตั้งศูนย์แนะแนวและให้คำปรึกษาด้านยาเสพติด และโรคเอดส์ โดยส่งเสริมให้เด็กนักเรียนค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเอง พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กนักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมในการใช้งานและการจัดการภายในศูนย์ฯ นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพเด็กนักเรียนให้มีความสามารถ เพื่อเป็นวิทยากรพิเศษในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดและโรคเอดส์ โครงการความร่วมมือการพัฒนาด้านการศึกษาระหว่างสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนากับรัฐเคดะห์ เป็นโครงการที่สืบเนื่องมาจากการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการให้ความช่วยเหลือโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิในเขตพื้นที่จังหวัดสตูล จำนวน 7 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย โรงเรียนบ้านตันหยงกลิง โรงเรียนบ้านตันหยงอุมาชัยพัฒนา โรงเรียนบ้านเกาะสาหร่ายชัยพัฒนา โรงเรียนบ้านเกาะอาดัง โรงเรียนบ้านตันหยงกาโบยชัยพัฒนา และโรงเรียนบ้านเกาะยาว ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวอยู่ในพื้นที่เกาะ มีอาณาเขตทางทะเลติดต่อกับเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย และโรงเรียน Seri Negeri และโรงเรียน Tunku Putra เป็นโรงเรียนที่เน้นการเรียนในกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ซึ่งการจัดทำโครงการความร่วมมือทางการศึกษาดังกล่าวนี้ จะเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ทางการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาทักษะทางวิชาการสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสศึกษาในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ดังนั้น การจัดทำโครงการความร่วมมือการพัฒนาด้านการศึกษาระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนากับรัฐเคดะห์ เพื่อศึกษาดูงานการบริหารจัดการด้านการศึกษา และโครงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา โดยการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ รวมทั้งการจัดกิจกรรมทางการศึกษา ระหว่างโรงเรียนของทั้ง 2 ประเทศ นอกจากจะเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ด้านการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้านวิชาการให้แก่บุคลากรของโรงเรียน และส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสังคมให้แก่นักเรียนทั้ง 2 ประเทศแล้ว ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น วันพุธที่ 4 มีนาคม 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปยังเกาะปูยู ตำบลปูยู อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ประทับรถจักรยานยนต์พ่วงข้างพระที่นั่งไปยัง สถานีอนามัยบ้านเกาะปูยู ทอดพระเนตรการดำเนินงานซ่อมแซมและปรับปรุงสถานีอนามัยบ้านเกาะยาว ทอดพระเนตรห้องรักษาพยาบาลและห้องฉุกเฉิน โดยได้พระราชทานพระราชานุญาตให้กรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการซ่อมแซมและปรับปรุง จากนั้น ประทับเรือเร็วพระที่นั่งไปยัง โรงเรียนบ้านเกาะยาว ตำบลปูยู อำเภอเมือง จังหวัดสตูล พระราชทานสิ่งของแก่ผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้แทนนักเรียนชาย-หญิง เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนากราบบังคมทูลรายงานการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงเปิดแพรคลุมป้ายโรงเรียน ทรงปลูกต้นโพทะเล ทอดพระเนตรห้องสมุด โรงอาหาร โรงครัว ห้องคอมพิวเตอร์ และห้องสาธิตการเรียนการสอน โรงเรียนบ้านเกาะยาว เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนเกาะยาว ฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณแนวชายแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 78 คน โรงเรียนมีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่เศษ อาคารเรียนมีสภาพทรุดโทรมมากและขาดสื่อการเรียนการสอนที่จำเป็น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานงบประมาณที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อครั้งเกิดภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิแก่มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อใช้ในการสร้างและซ่อมแซมโรงเรียนบ้านเกาะยาว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้กรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งประกอบด้วย อาคารเรียน อาคารอเนกประสงค์พร้อมห้องพักครู โรงอาหาร และปรับปรุงลานเอนกประสงค์ นอกจากนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้สนับสนุนโต๊ะและเก้าอี้นักเรียน จำนวน 100 ชุด และคอมพิวเตอร์ 10 ชุด แก่โรงเรียนบ้านเกาะยาว จากนั้น พระดำเนินไปยัง สถานีอนามัยบ้านเกาะยาว ทอดพระเนตรการดำเนินงานซ่อมแซมและปรับปรุงสถานีอนามัยบ้านเกาะยาว ทอดพระเนตรห้องพยาบาล ห้องฉุกเฉิน และห้องตรวจครรภ์ โดยได้พระราชทานพระราชานุญาตให้กรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการซ่อมแซมและปรับปรุง จากนั้น ประทับเรือเร็วพระที่นั่งเสด็จฯ ไปยัง โรงเรียนบ้านตันหยงกาโบยชัยพัฒนา ตำบลปูยู อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เพื่อทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้ายโรงเรียน และทรงติดตามการดำเนินงานมูลนิธิชัยพัฒนา โอกาสนี้ พระราชทานสิ่งของแก่ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้แทนนักเรียนชาย-หญิง และพระราชทานพันธุ์ข้าวและพันธุ์พืชแก่ผู้แทนเกษตรกร พันธุ์พืชที่พระราชทาน ประกอบด้วย ข้าวพันธุ์เล็บนก เมล็ดผักบุ้ง ถั่วฝักยาว คะน้า กว้างตุ้ง และมะเขือเปราะ ทรงปลูกต้นศรีตรัง ทอดพระเนตรห้องวิทยาศาสตร์ ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องพยาบาล ห้องแนะแนวและห้องวิชาการ และทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทานและราษฎร โรงเรียนบ้านตันหยงกาโบยชัยพัฒนา เป็นโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลบนเกาะปูยู ฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณแนวชายแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย อาคารเรียนมีสภาพทรุดโทรมมาก เป็นโรงเรียนขยายโอกาส ดำเนินการสอนในระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานงบประมาณจากกองทุนบูรณะฟื้นฟูภาคใต้ โดยการสนับสนุนของบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในการสร้างและซ่อมแซมโรงเรียนบ้านตันหยงกาโบยชัยพัฒนา และพระราชทานพระราชานุญาตให้กรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งประกอบด้วย สร้างอาคารเรียน 2 ชั้น สร้างอาคารอเนกประสงค์ สร้างบ้านพักครู ปรับปรุงอาคารเรียนเดิมพร้อมห้องเรียนชั้นอนุบาล และปรับปรุงสนามกีฬา นอกจากนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้สนับสนุนโต๊ะและเก้าอี้นักเรียน จำนวน 100 ชุด และคอมพิวเตอร์ 10 ชุด แก่โรงเรียนบ้านเกาะยาว โอกาสนี้ พระราชทานได้พระราชทานสิ่งของและอุปกรณ์การเรียนการสอนแก่ผู้แทนครูและผู้แทนนักเรียนด้วย นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริเพิ่มเติมให้โรงเรียนจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการประกอบอาชีพที่สอดคล้อง และเป็นความต้องการของท้องถิ่น เพื่อให้นักเรียนได้มีอาชีพติดตัวและสามารถประกอบอาชีพในอนาคตได้ รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสและเป็นพื้นฐานที่ดีแก่นักเรียนที่มีความประสงค์ที่จะศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น ซึ่งหลักสูตรของโรงเรียนบ้านตันหยงกาโบย ประกอบด้วย หลักสูตรการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง และหลักสูตรการซ่อมเครื่องยนต์เล็ก ในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่แก่โรงเรียนว่า โรงเรียนบ้านตันหยงกาโบยชัยพัฒนาเพื่อเป็นที่ระลึกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีความห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน และมีพระราชประสงค์ที่จะเพิ่มโอกาสและมาตรฐานทางการศึกษาแก่นักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่ห่างไกลให้ดีขึ้น จากนั้น พระดำเนินไปทอดพระเนตรบริเวณพื้นที่ป่าชายเลนด้านหลังโรงเรียนบ้านตันหยงกาโบยชัยพัฒนา จากนั้น ประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปยังเกาะสาหร่าย ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เขตพื้นที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล มีสภาพพื้นที่เป็นหมู่เกาะ พื้นที่ประมาณ 8,000 ไร่ ส่วนหนึ่งเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติทางทะเล 2 แห่ง คือ เกาะตะรุเตาและเกาะอาดัง บางแห่งเป็นเกาะร้างไม่มีคนอาศัยอยู่ สำหรับเกาะที่มีราษฎรอาศัยอยู่มี 4 เกาะ มีราษฎรประมาณ 5,000 คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ค้าขาย และบางส่วนทำการเกษตรประกอบด้วยหมู่บ้าน 7 แห่ง คือ เกาะตันหยงอุมา เป็นที่ตั้งของหมู่ 1 หมู่ 2 และหมู่ 3 มีครัวเรือนประมาณ 400 ครัวเรือน มีโรงเรียน 2 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านตันหยงอุมา ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 นักเรียนประมาณ 80 คน สอนตั้งแต่อนุบาล ม.3 และโรงเรียนบ้านตันหยงกลิง ตั้งอยู่ที่ หมู่ 3 นักเรียนประมาณ 70 คน สอนตั้งแต่อนุบาล - ป.6 เกาะยะระโตดนุ้ย มีเพียงหมู่ 4 หมู่เดียว ประมาณ 100 ครัวเรือน มีโรงเรียน 1 แห่ง คือโรงเรียนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย นักเรียนประมาณ 30 คน สอนตั้งแต่อนุบาล - ป.6 ส่วนเกาะสาหร่าย มี 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ 5 และหมู่ 6 มีราษฎรประมาณ 300 ครัวเรือน มีโรงเรียน 1 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านเกาะสาหร่าย นักเรียนประมาณ 300 คน สอนตั้งแต่อนุบาล ม.3 เกาะสุดท้าย คือ เกาะอาดังเป็นหมู่ 7 บ้านเกาะหลีเป๊ะและบ้านเกาะอาดัง ราษฎรประมาณ 150 ครัวเรือน มีโรงเรียน 1 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านเกาะอาดัง นักเรียนประมาณ 200 คน สอนตั้งแต่อนุบาล ม.3 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปยังโครงการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทะเลไทยของมูลนิธิชัยพัฒนา พระดำเนินไปยังอู่ซ่อมเรือบ้านตะโล๊ะน้ำ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชกระแสให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาสำรวจและพิจารณาให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากธรณีพิบัติภัยสึนามิ จากการสำรวจ พบว่า กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เป็นเขตพื้นที่เกาะได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าว และกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านได้ขอจัดทำโครงการอู่ซ่อมสร้างเรือชุมชนของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ขนาด กว้าง 4 เมตร ยาว 10 เมตร พร้อมเครื่องมือช่างและไม้สำหรับใช้ในการซ่อมเรือ เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ เช่น ค่าเดินทาง ค่าขนส่ง ค่าจ้างช่าง เป็นต้น ซึ่งชาวประมงสามารถซ่อมแซมเรือประมงขนาดเล็กได้ แต่ไม่มีเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์สำหรับการซ่อมแซม และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานงบประมาณจากกองทุนบูรณะฟื้นฟูภาคใต้ของมูลนิธิชัยพัฒนาในการสร้างอู่ซ่อมสร้างเรือชุมชนแก่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ที่ผ่านมาการดำเนินงานของโครงการอู่ซ่อมสร้างเรือชุมชนเป็นไปด้วยดี มีการซ่อมเรือด้วยการใช้เครื่องมือช่างที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิชัยพัฒนา ช่างซ่อมเรือเป็นชาวประมงที่มีความรู้โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการซ่อมเรือแก่ชาวประมงด้วยกัน เพื่อให้มีพื้นฐานในการซ่อมเรือด้วยตนเองได้ นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสเมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทรงเปิดโครงการหมู่บ้านชัยพัฒนา-กาชาดไทย บ้านทุ่งรัก จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2551 ในเรื่องการซ่อมบำรุงเรือประมงแบบไม้ดั้งเดิม และสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้มอบหมายให้กรมประมงดำเนินการจัดทำแผนงานและโครงการฝึกอบรมการซ่อมบำรุงเรือประมงไม้โดยใช้วัสดุไฟเบอร์กลาส โดยมุ่งเน้นให้ชาวประมงสามารถใช้วัสดุไฟเบอร์กลาสมาทดแทนการใช้หมัน ชัน และน้ำมันยาง เพื่อเป็นการยืดอายุของเรือไม้ให้สามารถใช้งานได้นานขึ้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชาวประมงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกาะและอยู่ห่างไกลเมือง ในด้านการลดต้นทุนและขั้นตอนในการซ่อมเรือประมงไม้ให้น้อยลง เป็นการยืดอายุการใช้เรือไม้ให้นานขึ้น อีกทั้งยังเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพเสริมรายได้ของชาวประมงได้อีกด้วย จึงได้นำโครงการดังกล่าวมาจัดฝึกอบรมให้แก่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เพื่อเป็นการเพิ่มทักษะและถ่ายทอดความรู้ใหม่ให้แก่กลุ่มชาวประมงที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และเกิดประโยชน์ในการประกอบอาชีพประมงต่อไป จากนั้น พระดำเนินไปยังโครงการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทะเลไทยของมูลนิธิชัยพัฒนา ทอดพระเนตรนิทรรศการบ่ออนุบาลเต่า นิทรรศการธนาคารปูไข่ และนิทรรศการโครงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และทอดพระเนตรการสาธิตการซ่อมเรือ โครงการบ่ออนุบาลเต่าทะเล ได้จัดสร้างบ่ออนุบาลเต่า เพื่อใช้สำหรับรักษาเต่าที่บาดเจ็บและพักฟื้น โดยใช้วิธีการรักษาแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ ใช้น้ำที่ได้จากการต้มปลิงทะเลมาทาแผลสด จะทำให้แผลแห้งและหายสนิท ซึ่งเป็นวิธีการรักษาแผลของชาวบ้าน ชาวประมงจึงนำมาใช้รักษาเต่าบาดเจ็บ เมื่อหายดีแล้วจะปล่อยเต่าสู่ทะเล จากการดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ได้มีการอนุบาลและรักษาเต่าทะเลจนหายและปล่อยกลับคืนสู่ทะเล เป็นจำนวนมากกว่า 40 ตัว ทำให้ปริมาณเต่าทะเลในพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญได้มีการพบเต่าทะเลบางชนิดที่หายไปจากพื้นที่เป็นเวลานานจนเกือบสูญพันธุ์กลับคืนมา เช่น เต่าหัวฆ้อนที่ไม่มีรายงานการพบเห็นในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 40 ปี หรือเต่าหญ้าที่ไม่มีรายงานพบในพื้นที่จังหวัดสตูล เป็นเวลากว่า 20 ปี ก็กลับคืนมาอีกครั้ง จึงสรุปได้ว่า การดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โอกาสนี้ ทรงปล่อยเต่าตนุลงสู่ทะเล จากนั้น ประทับรถจักรยานยนต์พ่วงข้างพระที่นั่งเสด็จฯ ไปยังโรงเรียนบ้านเกาะสาหร่ายชัยพัฒนา ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ทรงเปิดแพรคลุมป้ายอาคารเอนกประสงค์ เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนากราบบังคมทูลรายงานการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา พระราชทานสิ่งของแก่ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้แทนนักเรียนชาย-หญิง จากโรงเรียนบ้านเกาะสาหร่ายชัยพัฒนาและโรงเรียนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย พระราชทานพันธุ์ข้าวและพันธุ์พืชแก่ผู้แทนเกษตรกร หมู่ ๔ บ้านเกาะยะระโตดนุ้ย ทรงปลูกต้นราชพฤกษ์ ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทานและราษฎร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานงบประมาณจากกองทุนบูรณะฟื้นฟูภาคใต้ของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยการสนับสนุนของบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในการปรับปรุงและซ่อมแซมโรงเรียนบ้านเกาะสาหร่าย ซึ่งประกอบด้วย สร้างอาคารอเนกประสงค์ ปรับปรุงอาคารเรียน สร้างและซ่อมแซมบ้านพักครู และสร้างถนนภายในโรงเรียน จากนั้น พระดำเนินไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมัสยิดบ้านเกาะสาหร่าย เพื่อทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้ายอาคารศูนย์เด็กเล็ก ทอดพระเนตรภายในศูนย์ อาคารหลังดังกล่าวนี้เป็นอาคารที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานงบประมาณจากกองทุนบูรณะฟื้นฟูภาคใต้ของมูลนิธิชัยพัฒนา เนื่องจากอาคารเดิมเป็นห้องเรียน จำนวน 4 ห้อง แต่มีขนาดคับแคบ มีสภาพห้องที่เก่าและใช้งานได้เพียง 2 ห้อง ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับเด็กเล็ก จำนวน 70 คน จากนั้น พระดำเนินไปยังลานเอนกประสงค์โรงเรียนบ้านเกาะสาหร่ายชัยพัฒนา เพื่อทอดพระเนตรการสาธิตการเรียนการสอนหลักสูตรแปรรูปอาหารทะเล และหลักสูตรการซ่อมเครื่องยนต์เล็ก ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริเพิ่มเติมให้โรงเรียนจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการประกอบอาชีพที่สอดคล้อง และเป็นความต้องการของท้องถิ่น เพื่อให้นักเรียนได้มีอาชีพติดตัวและสามารถประกอบอาชีพในอนาคตได้ รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสและเป็นพื้นฐานที่ดีแก่นักเรียนที่มีความประสงค์ที่จะศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น โอกาสนี้ พระราชทานพระราชานุญาตให้คณะครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย ซึ่งอยู่บนเกาะยะระโตดนุ้ย เฝ้ารับเสด็จฯ และกราบบังคมทูลรายงานการดำเนินงานด้านต่างๆ ของโรงเรียน ทอดพระเนตรนิทรรศการของโรงเรียนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย และทอดพระเนตรผลการดำเนินงานของโรงสีข้าวชุมชนพระราชทาน เกาะยะระโตดนุ้ย ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้สนับสนุนการติดตั้งเครื่องสีข้าวให้แก่กลุ่มเกษตรกร และพระราชทานพันธุ์ข้าวและพันธุ์พืชแก่ผู้แทนเกษตรกร หมู่ ๔ บ้านเกาะยะระโตดนุ้ย พันธุ์พืชที่พระราชทาน ประกอบด้วย ข้าวพันธุ์เล็บนก เมล็ดผักบุ้ง ถั่วฝักยาว คะน้า กว้างตุ้ง และมะเขือเปราะ โรงเรียนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 เกาะยะระโตดนุ้ย ตำบลเกาะสาหร่าย เปิดสอนตั้งแต่อนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานงบประมาณจากกองทุนบูรณะฟื้นฟูภาคใต้ของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยการสนับสนุนของบริษัท อเมริกัน อินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด (เอไอเอ) ในการจัดทำโครงการปรับปรุงห้องสมุดโรงเรียนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย และสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้สนับสนุนให้โรงเรียนจัดทำโครงการปลูกพืชไม่ใช้ดิน เพื่อเป็นอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน เนื่องจากโรงเรียนมีพื้นที่จำกัดมากจึงไม่สามารถปลูกผักเป็นอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนได้และมีน้ำน้อย ซึ่งวิธีการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับโรงเรียนแห่งนี้ ในระหว่างการจัดทำระบบและก่อสร้างโรงเรือนได้รับความช่วยเหลือด้านแรงงานจากครู นักการ และผู้ปกครองของนักเรียน ขณะเดียวกันได้มีการสอนและแนะนำวิธีการปลูกแก่ครู นักเรียน และชาวบ้านผู้ปกครองด้วย ทำให้นักเรียนได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์จากพืชผักที่นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการปลูกด้วย นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานงบประมาณจากกองทุนบูรณะฟื้นฟูภาคใต้ของมูลนิธิชัยพัฒนา ในการจัดทำโรงสีข้าวชุมชนพระราชทาน และก่อสร้างท่าเทียบเรือ หมู่ 4 เกาะยะระโตดนุ้ย ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เพื่อให้ราษฎรสามารถสัญจรทางเรือได้สะดวกขึ้น ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายเดือนมีนาคม 2552 นี้ จากนั้น พระดำเนินไปยังอาคารศูนย์คอมพิวเตอร์และห้องวิทยุเพื่อการศึกษา โรงเรียนบ้านเกาะสาหร่ายชัยพัฒนา เพื่อทอดพระเนตรโครงการนำร่องการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาสำหรับโรงเรียนบ้านเกาะสาหร่าย ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานงบประมาณจากมูลนิธิชัยพัฒนาในการสร้างอาคารศูนย์คอมพิวเตอร์ พร้อมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ จำนวน 20 เครื่อง และพระราชทานพระราชานุญาตให้บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดทำแผนการพัฒนาโครงสร้างระบบข้อมูลสารสนเทศพื้นฐานของโรงเรียนบ้านเกาะสาหร่าย เพื่อเพิ่มทักษะการเรียนรู้ด้านข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศแก่นักเรียน ครู และขยายไปสู่ชุมชนโดยรอบ การพัฒนาระบบโครงสร้างและหลักสูตรการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรมาตรฐาน มุ่งหมายให้ครูสามารถนำแผนการสอนไปสอนในห้องเรียนได้จริง และการผลักดันให้โรงเรียนเป็นศูนย์การศึกษาของชุมชน โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนสามารถเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์มากขึ้น รวมทั้งนำหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการประกอบอาชีพที่โรงเรียนได้จัดทำขึ้นนำมาใช้ควบคู่กัน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่นักเรียนอย่างสูงสุด ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้จะเป็นโครงการตัวอย่างที่ดีแก่โรงเรียนอื่นๆ ที่จะนำไปปรับใช้ต่อไป นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้สนับสนุนการติดตั้งวิทยุเพื่อการศึกษาและพัฒนาอาชีพ (R-radio Network) คลื่นความถี่เพื่อการทำมาหากินให้แก่โรงเรียนบ้านเกาะสาหร่ายชัยพัฒนา เพื่อช่วยเหลือทางด้านการศึกษาและการสื่อสารที่จำเป็นสำหรับโรงเรียนและชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล อีกทั้งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะใช้ประโยชน์ด้านการพัฒนาอาชีพให้แก่ชุมชนต่อไปได้ ในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่แก่โรงเรียนว่า โรงเรียนบ้านเกาะสาหร่ายชัยพัฒนา เพื่อเป็นที่ระลึกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีความห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน และมีพระราชประสงค์ที่จะเพิ่มโอกาสและมาตรฐานทางการศึกษาแก่นักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่ห่างไกลให้ดีขึ้น จากนั้น ประทับรถจักรยานยนต์พ่วงข้างพระที่นั่ง ไปยังโครงการธนาคารปูไข่ เพื่อทรงปล่อยปูไข่ลงในกระชัง โครงการดังกล่าวนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานงบประมาณจากกองทุนบูรณะฟื้นฟูภาคใต้ของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยการสนับสนุนของบริษัท อเมริกัน อินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด (เอไอเอ) ในการจัดทำโครงการธนาคารปูไข่ หลักการของธนาคารปูไข่ คือ การรับบริจาคแม่ปูที่มีไข่นอกกระดองจากชาวประมงมาขังไว้ในกระชัง เพื่อให้แม่ปูได้ปล่อยไข่เป็นลูกคืนสู่ธรรมชาติและเจริญเติบโตเพื่อให้ชาวประมงได้มีปูไว้จับขาย ซึ่งกระบวนการที่กลุ่มตอบแทนแก่ผู้ที่มาใช้บริการกลุ่ม คือ แม่ปูที่ปล่อยไข่แล้ว ทางกลุ่มจะนำไปขายเพื่อเป็นรายได้เข้ามาบำรุงกลุ่มและเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม เช่น ค่าซ่อมแซมกระชัง และสนับสนุนการช่วยเหลือกิจกรรมทางสังคม เป็นต้น ส่วนลูกปูที่แม่ปูปล่อยคืนสู่ธรรมชาติและเจริญเติบโตจำนวนมากมายนั้น เป็นการคืนทรัพยากรธรรมชาติสู่ทะเล และชาวประมงสามารถจับปูไปขายเพื่อยังชีพต่อไป ผลการดำเนินการที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจก่อนดำเนินโครงการ ในพื้นที่ริมชายฝั่งของเกาะในพื้นที่ 300 ตารางเมตร พบลูกปู จำนวน 25 ตัว หลังดำเนินโครงการไปแล้ว พบลูกปู จำนวน 123 ตัว เป็นการเพิ่มปริมาณพันธุ์ปูไข่นอกกระดองเกือบ 5 เท่า และภายหลังจากดำเนินโครงการไปแล้ว ชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้น 4 เท่า ในปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงประเภทต่างๆ มาเป็นเครื่องมือประมงประเภทดักปูถึง 70% จากผลการดำเนินการที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เกิดการขยายเครือข่ายในการดำเนินการโครงการธนาคารปูไข่ขึ้นในหมู่บ้านชุมชนชายฝั่งของจังหวัดสตูล รวมทั้งได้ขยายโครงการไปยังเกาะปูยู ตำบลปูยู อำเภอเมือง จังหวัดสตูล โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการจากบริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ทำให้ชาวประมงมีรายได้เสริมและเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรปูไข่นอกกระดองได้อีกด้วย จากนั้น เสด็จฯ ไปยังโรงเรียนบ้านตันหยงอุมาชัยพัฒนา ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เพื่อทรงเปิดแพรคลุมป้ายโรงเรียน และทอดพระเนตรการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา โอกาสนี้ ทรงปลูกต้นโพทะเล พระราชทานสิ่งของแก่ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้แทนนักเรียนชาย-หญิงจากโรงเรียนบ้านตันหยงอุมาชัยพัฒนาและโรงเรียนบ้านตันหยงกลิง ทอดพระเนตรนิทรรศการและกิจกรรมของโรงเรียนบ้านตันหยงอุมาชัยพัฒนาและโรงเรียนบ้านตันหยงกลิง ทอดพระเนตรห้องสมุด ทอดพระเนตรการสาธิตการเรียนการสอน ห้องคอมพิวเตอร์พระราชทาน ห้องปฐมวัย และทอดพระเนตรแปลงผักเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โรงเรียนบ้านตันหยงอุมา ตั้งอยู่บนเกาะยะระโตดใหญ่ หมู่ 1 ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เปิดสอนในระดับก่อนประถมศึกษา ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนได้รับความเสียหายจากธรณีพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ ทำให้อาคารเรียน 2 หลัง ซึ่งเป็นคอนกรีต มีรอยร้าว โครงสร้างชำรุดมาก ทำให้อาคารเรียนทั้งสองหลังไม่สามารถใช้งานได้ นอกจากนี้ สิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ซึ่งมีอายุการใช้งานนานมีสภาพทรุดโทรม เช่น บ้านพักครู โรงอาหารชั่วคราว รวมทั้งถังเก็บน้ำฝนและห้องน้ำของโรงเรียนชำรุดเสียหายอีกด้วย เนื่องจาก โรงเรียนบ้านตันหยงอุมา เปิดสอนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และในปัจจุบันได้ขยายชั้นเรียนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้นักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนบ้านตันหยงอุมาและโรงเรียนบ้านตันหยงกลิง ที่มีความประสงค์จะศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น แต่นักเรียนไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นแผ่นดินใหญ่ได้ อีกทั้งผู้ปกครองมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะส่งให้บุตรหลานให้ศึกษาต่อบนแผ่นดินใหญ่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชานุมัติงบประมาณในการจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนบ้านตันหยงอุมา เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับการขยายชั้นเรียน และสนับสนุนให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐานเช่นเดียวกับนักเรียนที่ศึกษาบนแผ่นดินใหญ่ ได้แก่ การจัดทำห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์และจัดซื้อคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องสมุด และอุปกรณ์กีฬาและเครื่องเล่นสนาม รวมทั้งการจ้างครูอัตราจ้างในระยะเริ่มแรก นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริเพิ่มเติมให้โรงเรียนจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการประกอบอาชีพที่สอดคล้อง และเป็นความต้องการของท้องถิ่น เพื่อให้นักเรียนได้มีอาชีพติดตัวและสามารถประกอบอาชีพในอนาคตได้ รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสและเป็นพื้นฐานที่ดีแก่นักเรียนที่มีความประสงค์ที่จะศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น การจัดทำหลักสูตรของโรงเรียนเน้นความต้องการของนักเรียนและสอดคล้องกับสภาพท้องถิ่น โดยได้รับความร่วมมือ คำแนะนำและความช่วยเหลือจากหน่วยราชการในท้องถิ่น ผู้ชำนาญการและเจ้าของกิจการในท้องถิ่น วิทยากรทั้งภายในและภายนอกท้องถิ่น ซึ่งหลักสูตรของโรงเรียนบ้านตันหยงอุมา ประกอบด้วย หลักสูตรการแปรรูปอาหารทะเล และหลักสูตรการเลี้ยงปูม้าในคอกในทะเล ในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่แก่โรงเรียนว่า โรงเรียนบ้านตันหยงอุมาชัยพัฒนา เพื่อเป็นที่ระลึกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีความห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน และมีพระราชประสงค์ที่จะเพิ่มโอกาสและมาตรฐานทางการศึกษาแก่นักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่ห่างไกลให้ดีขึ้น โอกาสนี้ พระราชทานพระราชานุญาตให้คณะครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านตันหยงกลิง ซึ่งอยู่บนเกาะตันหยงอุมา เฝ้ารับเสด็จฯ และกราบบังคมทูลรายงานการดำเนินงานด้านต่างๆ ของโรงเรียน และได้พระราชทานสิ่งของและอุปกรณ์การเรียนการสอนแก่ผู้แทนครูและผู้แทนนักเรียนด้วย
ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้จัดทำแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษา ทดลอง และให้นักเรียนได้ปฏิบัติในพื้นที่จริง ซึ่งเป็นพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้มีการรักษาระบบนิเวศป่าชายเลน และให้มีการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักเรียนในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในชุมชนชายฝั่งได้ศึกษา โดยการสร้างแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนในพื้นที่จริง นอกเหนือจากการเรียนการสอนในโรงเรียน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชานุมัติงบประมาณในส่วนโครงการบูรณะฟื้นฟูภาคใต้ของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อจัดทำโครงการก่อสร้างและซ่อมแซมโรงเรียนบ้านตันหยงอุมา ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อเดือนตุลาคม 2549 แล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2550 ประกอบด้วย อาคารเรียนชั้นเดียว 1 หลัง 6 ห้องเรียน อาคารอเนกประสงค์ ใช้เป็นทั้งโรงอาหาร ห้องประชุมนักเรียน ประชุมผู้ปกครองและศูนย์ประชุมของราษฎรในหมู่บ้าน ปรับปรุงบ้านพักครู 2 หลัง สร้างบ้านพักครูแบบเรือนแถว 1 ชุด จำนวน 6 ชุด
โรงเรียนบ้านตันหยงกลิง ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนเกาะตันหยงอุมา หมู่ 3 ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล - ประถมศึกษาปีที่ 6 มีอาคารเรียน 1 หลัง เป็นอาคารไม้ อายุการใช้งาน ประมาณ 30 ปี มีสภาพทรุดโทรม ยังไม่เคยปรับปรุงและซ่อมแซม ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานงบประมาณจากมูลนิธิชัยพัฒนาในการปรับปรุงโรงเรียนบ้านตันหยงกลิง ประกอบด้วย การปรับปรุงอาคารเรียน โดยการทาสีและเปลี่ยนหลังคาใหม่ และการปรับปรุงศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากที่โรงเรียนได้ดำเนินการไว้เดิม โดยการทาสีและปูพื้นใหม่ ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2550