วันพุธที่ 5 กันยายน 2561
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ อันเป็นหนึ่งในโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา ในช่วงปลายปีพุทธศักราช 2555 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีรับสั่งให้มูลนิธิชัยพัฒนา พิจารณาดำเนินการผลิตพันธุ์ข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสำรองไว้เป็นพันธุ์ข้าวพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ และต่อมาในปี 2556 มูลนิธิชัยพัฒนา ตั้งศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ ขึ้น บนที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 บ้านกุง ตำบลสำโรงทาบ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อผลิตข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เป็นพันธุ์ข้าวพระราชทาน ในปัจจุบันมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ใน 3 จังหวัด คือ ในจังหวัดสุรินทร์ มีกลุ่มเกษตรกร 9 กลุ่ม ใน 6 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอจอมพระ อำเภอศีขรภูมิ อำเภอชุมพลบุรี อำเภอสำโรงทาบ และอำเภอสังขะ กลุ่มเกษตรกรในอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ 1 กลุ่ม และราษฎรอำเภอราศีไสล จังหวัดศรีสะเกษ อีก 1 ราย
ข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2493 – 2494 นายสุนทร สีหะเนิน อดีตพนักงานข้าวของกรมการข้าว ประจำอยู่ที่ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับมอบหมายให้ออกไปเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวในภาคตะวันออก จึงได้คัดเก็บรวงข้าวจำนวน 199 รวง ซึ่งเป็นข้าวที่มีความหอม เรียกกันว่า ‘ข้าวหอมมะลิ’ มาระบุหมายเลขของรวงที่เก็บมา แล้วส่งไปปลูกเพื่อคัดพันธุ์ให้บริสุทธิ์ ที่สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี และต่อมาในปี พ.ศ. 2500 เมื่อได้พันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ผ่านการคัดพันธุ์แล้ว ก็นำไปปลูกทดลองและทดสอบในพื้นที่ปลูกข้าวภาคต่างๆ พบว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ข้าวหอมมะลิที่เป็นรวงหมายเลขที่ 105 เป็นรวงที่ให้ผลผลิตดีในพื้นที่ดินทรายของภาคอีสาน ได้เมล็ดข้าวเรียวยาว สมบูรณ์ และยังคงความหอมเหมือนข้าวที่ปลูกจากแหล่งที่ปลูกเดิม
โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ เกิดขึ้นจากการที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสำรองพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ให้มีคงไว้ ในกรณีที่ประเทศมีภาวะฉุกเฉิน หรือประสบภัยที่ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิประสบปัญหา ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่หาพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ดีมีคุณภาพมาทดแทนให้เกษตรกรได้ยาก ดังนั้น ในการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน มูลนิธิชัยพัฒนา จึงมีความตั้งใจในการที่จะให้การผลิตเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ผลิตพันธุ์ข้าวด้วยความประณีต ให้ปราศจากพันธุ์ปนและข้าวเมล็ดแดง เพื่อพันธุ์ข้าวพระราชของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเป็นพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ดีและมีคุณภาพที่สุด ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ของมูลนิธิชัยพัฒนาทุกกลุ่ม จะต้องตั้งคณะกรรมการบริหารงานภายในกลุ่ม เพื่อดำเนินกิจกรรมของกลุ่มให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด มีคณะกรรมการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว ดูแลกันตั้งแต่เตรียมแปลงนาจนถึงการเก็บเกี่ยว การปลูกให้ปลูกโดยวิธีปักดำเท่านั้น และต้องเก็บเกี่ยวด้วยมือหรือรถเกี่ยวข้าวที่สะอาด เพื่อป้องกันการปนของข้าวพันธุ์อื่นหรือข้าวเมล็ดแดง มูลนิธิชัยพัฒนาจะมีการตรวจแปลงนาและตรวจสอบพันธุ์ข้าวที่เก็บเกี่ยวขึ้นมาจากแปลงนา มีกรรมการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว คือ มีเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ประธานกลุ่ม สมาชิกกลุ่ม และเจ้าของแปลงนา ร่วมกันตรวจสอบ การตรวจสอบจะสุ่มตัวอย่างข้าว 1 กิโลกรัม เพื่อวัดความชื้นและตรวจสอบหาข้าวปน ทดสอบเช่นนี้ 2 ครั้ง โดยราคาพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐานเข้าเกณฑ์เป็นข้าวพันธุ์พระราชทานของมูลนิธิชัยพัฒนา จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจากราคาข้าวของกรมการค้าภายใน เพื่อเป็นรางวัลในการผลิตข้าวอย่างประณีตและมีคุณภาพ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในภาคอีสาน จึงได้มีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนา จัดหาน้ำช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน โดยให้ปรับปรุงสระน้ำในแปลงนาแก่ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการทุกราย หากราษฎรรายใดไม่มีสระน้ำสำรองใช้ในการเกษตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการขุดบ่อให้ตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่มูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการสนองพระราชดำริตั้งแต่ปี 2559 ได้ปรับปรุงและขุดสระน้ำในแปลงนาของกลุ่มผู้ผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทานให้ตามความประสงค์ของราษฎรเจ้าของที่นาและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ไปแล้ว 360 สระ เพื่อใช้ในการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ซึ่งเป็นนาดำที่ใช้น้ำมากกว่าการทำนาหว่าน และบริเวณรอบสระน้ำพระราชทาน ราษฎรยังปลูกพืชผักและไม้ผลไว้บริโภค และหากมีเหลือ สามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริมได้อีกด้วย นอกจากนี้ ได้พระราชทานบ่อน้ำใต้ดิน 4 บ่อ และได้โปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาขุดหรือปรับปรุงสระน้ำสาธารณะเพื่อให้ราษฎรในชุมชนได้ใช้อุปโภคและบริโภคอีก 8 สระ ในวันนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังสระน้ำสาธารณะพระราชทาบ้านหนองพรม ตำบลเสม็จ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเพิ่งขุดเสร็จเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ พระราชทานพันธุ์ปลานิลจิตรลดา จำนวน 100,000 ตัว
จากโครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านเกาะกา อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก และโครงการ ‘รวมกันสู้ อยู่อย่างพร้อม’ ของมูลนิธิชัยพัฒนา ในตำบลพุคา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ปล่อยสู่สระสาธารณะ บ้านหนองพรม เพื่อเป็นแหล่งอาหารของราษฎรในชุมชน การเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดสุรินทร์ในครั้งนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ บ้านเกาะแก้ว ตำบลเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ ทรงมีพระราชปฏิสันถารและมีรับสั่งให้กำลังใจแก่ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการ เนื่องด้วยทรงตระหนักว่า การผลิตพันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพ เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความมานะอดทน ต้องมีความละเอียดประณีตในการผลิต ทุกขั้นตอน นับแต่การเตรียมดิน การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ การปลูกด้วยการปักดำ การดูแลเอาใจใส่ในการกำจัดวัชพืชและข้าวปน รวมทั้งการใส่ใจในการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง เพื่อให้พันธุ์ข้าวมีคุณภาพดี จนกระทั่งขั้นตอนสุดท้ายที่ส่งมอบมายังมูลนิธิชัยพัฒนา จากนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 บ้านกุง ตำบลสำโรงทาบ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ ทอดพระเนตรผลการดำเนินงานการผลิตและการเก็บสำรองเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ จังหวัดสุรินทร์ อีก 3 กลุ่ม ที่มาเฝ้าฯรับเสด็จ คือ กลุ่มราษฎรบ้านโคกไทรงาม ตำบลบ้านจารย์ อำเภอสังขะ กลุ่มราษฎรบ้านฮ็อง ตำบลเพี้ยราม อำเภอเมือง และกลุ่มราษฎรบ้านกุง ตำบลสำโรงทาบ อำเภอสำโรงทาบ ในปีนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทาน พันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 (อ่านว่า หนึ่งร้อยห้า) จำนวน 1,120,560 กิโลกรัม ที่สะสมสำรองไว้ที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ แก่ราษฎรที่ประสบภัยแล้งและอุทกภัยในจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สระแก้ว สกลนคร และนครราชสีมา รวม 10,769 ราย นำไปเพาะปลูกในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายได้ 73,079 ไร่ และกรมชลประทานได้กราบบังคมทูลเรื่องแนวทางการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำลำพอก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรให้แก่ราษฎร ในการพระราชทานความช่วยเหลือราษฎรในเรื่องการเกษตร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มูลนิธิชัยพัฒนา โดยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทำโครงการ ‘ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน’ พระราชทานกิ่งพันธุ์ไม้ผลพันธุ์ดี ให้ชุมชนนำไปปลูกริมถนนและที่สาธารณะในหมู่บ้าน กิ่งพันธุ์ที่พระราชทานมีอาทิเช่น มะม่วงพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นมะม่วงทวาย ขนุน ฝรั่ง มะกอก มะขาม น้อยหน่า และชุมชนที่ได้รับพระราชทานกิ่งพันธุ์จะร่วมด้วยช่วยกันดูแลต้นไม้เหล่านี้ให้เจริญเติบโต และให้ผลผลิตแก่คนทั้งในหมู่บ้านและคนทั่วไปแบ่งปันกันบริโภคตามพระราชประสงค์
มูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินการสนองพระราชดำริในอันที่จะเตรียม กิ่งพันธุ์ไม้ผลพระราชทาน โดยมีโครงการต่างๆของมูลนิธิชัยพัฒนาผลิตกิ่งพันธุ์เพื่อส่งมอบให้ชุมชน ดังนี้ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสระบุรี โครงการผลิตกิ่งพันธุ์ไม้ผลพระราชทาน บ้านชวดบัว จังหวัดนครนายก โครงการพัฒนาป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ดมูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดจันทบุรี ในวันนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมโครงการ ‘ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน’ ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ณ ที่นั้น นอกจากจะได้ทอดพระเนตรไม้ผลพระราชทานที่ราษฎรได้ปลูกเรียงรายตามถนนที่เป็นเส้นทางเสด็จแล้ว ยังได้เสด็จไปยังพื้นที่ชุมชนริมหนองหารในตำบลระแงง ทรงมีพระราชปฏิสันถารและมีรับสั่งให้กำลังใจแก่ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ที่มูลนิธิชัยพัฒนาได้เข้ามาส่งเสริมและต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่หัตถกรรมพื้นบ้านของราษฎรที่เข้าร่วมโครงการ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินในเดือนตุลาคมปี 2558 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีรับสั่งให้มูลนิธิชัยพัฒนา พัฒนาการทอเสื่อกกและการทำผลิตภัณฑ์จากเสื่อกกแก่ราษฎรบ้านหนองไผ่ ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ มูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับอาจารย์และนักศึกษา สาขาวิชาการออกแบบสิ่งทอ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ทำโครงการพัฒนาการออกแบบอย่างยั่งยืนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากต้นกก โดยใช้หลักการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างปราชญ์ท้องถิ่น นักศึกษา อาจารย์ มาช่วยกันพัฒนาการย้อม การพิมพ์ การตกแต่งผิวหน้า(surface design) การทอ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ นับเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากต้นกกที่ยังคงรักษาภูมิปัญญาและวัฒนาธรรมของท้องถิ่นไว้ และกรมชลประทานได้กราบบังคมทูลเรื่องการดำเนินงานโครงการก่อสร้างแก้มลิงกุดผไท อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ อันเป็นโครงการในพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีพระราชประสงค์ที่จะทรงช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาการขาดน้ำในการเกษตรและปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากแก่ราษฎรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงส่งเสริมให้ราษฎรเข้าร่วมเป็นผู้ผลิตพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์พระราชทาน นอกจากจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ราษฎรในจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ เป็นผู้ผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทานแล้ว ในเรื่องพันธุ์สัตว์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิชัยพัฒนา ส่งเสริมราษฎรให้เข้าร่วมเป็นผู้ผลิตพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์พระราชทาน โดยในจังหวัดสุรินทร์ จะมีศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นผู้ให้ความรู้ในขั้นตอนและวิธีการผลิตให้ได้มาตรฐาน เพื่อเป็นพันธุ์พระราชทานคุณภาพที่ดีแก่ราษฎรต่อไป ปัจจุบันศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนผลิตไก่และเป็ดพระราชทานแล้ว 3 ชุมชน คือบ้านขอนแก่น ตำบลหนองฮะ อำเภอสำโรงทาบ บ้านโคกไทรงาม ตำบลบ้านจารย์ อำเภอสังขะ บ้านกันโจรง ตำบลกระหาด อำเภอจอมพระปัจจุบันเริ่มผลิตพันธุ์ไก่พื้นเมือง พันธุ์ไก่กระดูกดำ และพันธุ์เป็ดไข่ น้อมเกล้าถวายเป็นพันธุ์พระราชทานได้แล้วจากนั้นได้เสด็จไปยัง บ้านกันโจรง ตำบลกระหาด อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ทอดพระเนตรผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติของมูลนิธิชัยพัฒนาในปี 2556 ทรงมีพระราชดำริให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ ประสานกรมหม่อนไหมเข้าส่งเสริมการทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ เช่น ย้อมด้วยมะเกลือ หว้า แก่นเข ซังข้าวโพด เพกา ขนุน และคราม เป็นต้น
ปัจจุบันมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ 3 กลุ่ม คือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม่อนไหมไทรงาม กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ บ้านกุง ตำบลสำโรงทาบ ตำบลสำโรงทาบ และ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ บ้านกันโจรง ซึ่งก่อนเข้าโครงการสมาชิกส่วนใหญ่ทอผ้าไหมด้วยไหมย้อมสีสังเคราะห์ โดยในปีนี้โครงการได้พาสมาชิกเข้ารับการย้อมครามที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และชุมชนในจังหวัดสกลนคร นอกจากนี้ ในการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ของราษฎรที่เข้าร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา ในการคัดเลือกพันธุ์ข้าวเพื่อมาเป็นพันธุ์ข้าวพระราชทาน มีเกณฑ์มาตรฐานสูง เนื่องจากพันธุ์ข้าวที่พระราชทานแก่ราษฎรผู้ประประสบภัยจะต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ บ่มเพาะเป็นต้นกล้าที่แข็งแรง สมบูรณ์ ไม่มีพันธุ์อื่นปะปน จึงมีราษฎรที่ไม่ผ่านมาตรฐานพันธุ์ข้าวพระราชทานของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริด้วยน้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงตระหนักว่า ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการได้ตั้งใจ ทุ่มเท และมุ่งมั่นที่จะผลิตพันธุ์ข้าวให้ประณีต แต่อาจด้วยเกณฑ์กำหนดที่สูงของพันธุ์ข้าวพระราชทาน จึงทำให้มีผู้ที่ได้ผลผลิตไม่ผ่านเกณฑ์ จึงมีรับสั่งให้มูลนิธิชัยพัฒนา ซื้อพันธุ์ข้าวที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเป็นพันธุ์ข้าวพระราชทาน มาสีเป็นข้าวสารเพื่อจำหน่าย มูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินการสนองพระราชดำริ โดยให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จัดซื้อข้าวของสมาชิกโครงการที่ไม่ผ่านเกณฑ์เป็นพันธุ์ข้าวพระราชทาน มาสีบรรจุเป็นข้าวสารสำหรับบริโภค โดยใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า ข้าวหอมมะลิ ‘จันกะผัก’ ข้าวหอมมะลิ ‘จันกะผัก’ จึงเป็นข้าวสารที่มีคุณภาพ ผลิตด้วยความประณีต
จากเกษตรกรที่เข้าร่วมผลิตพันธุ์ข้าวพระราชทาน น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ ได้พระราชทานขวัญและกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ แก่ราษฎรที่เข้าร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ให้เกิดพลัง ความมานะ ตั้งใจ ใส่ใจ เพื่อให้พันธุ์ข้าวหอมมะลิพระราชทานเป็นพันธุ์ข้าวคุณภาพดี สำหรับช่วยเหลือราษฎรชาวไทยที่ประสบภัย มีความเดือดร้อนและเผชิญความทุกข์ยาก และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 แก่ราษฎรทั้งที่ประสบภัยแล้งและราษฎรที่ประสบอุทกภัยในฤดูกาลปลูกข้าวที่ผ่านมา เพื่อฟื้นฟูให้ก้าวเดินต่อไปในฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะมาถึง ด้วยเมล็ดพันธุ์อันเป็นมงคลยิ่งนอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิชัยพัฒนา ส่งเสริมอาชีพด้านต่างๆ ทั้งการผลิตพันธุ์พืช ผลิตพันธุ์สัตว์ การเลี้ยงปลานิลจิตรลดา เป็ด และไก่ เพื่อบริโภค การทำหัตถกรรมการทอและเย็บกระเป๋าเสื่อกก และการทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนด้วยความมุ่งมั่นพระราชหฤทัยที่จะให้ประเทศไทยมีพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ดี มีคุณภาพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิชัยพัฒนา ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความเข้าใจและมีความเอาใจใส่ในการทำนาอย่างละเอียดประณีต เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ ปราศจากข้าวอื่นปลอมปน เป็นต้นพันธุ์ที่ดีและมีคุณค่า เพื่อให้ประชาชนคนไทยมีพันธุ์ข้าวที่มีชื่อเสียงคงอยู่สืบต่อไป นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกรของชาวไทย ให้มีความมั่นคงด้านอาหาร นับเป็นการสร้างความมั่นคงภายในประเทศอีกทางหนึ่ง