วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2561 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน โครงการอุทยานการอาชีพชัยพัฒนา ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม พร้อมทั้งทรงเปิดนิทรรศการ “พิพิธชัยพัฒนา”
นิทรรศการ “พิพิธชัยพัฒนา” ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของห้องสมุดคมคาย นิลประภัสสร ณ อุทยานการอาชีพ ชัยพัฒนา จังหวัดนครปฐม ซึ่งชื่อของนิทรรศการแห่งนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้เพื่อเป็นสิริมงคลในการดำเนินงาน นิทรรศการ “พิพิธชัยพัฒนา” เป็นสถานที่รวบรวมประวัติความเป็นมาในการก่อเกิดมูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิซึ่งก่อตั้งโดย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร นอกจากนี้ยังได้รวบรวมลำดับเวลาการพัฒนา ( Timeline ) ที่ได้พระราชทานแนวคิด ทฤษฎีต่างๆ จนเกิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับร้อยนับพันโครงการ พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การจัดแสดงนิทรรศการดังกล่าวเป็นการแสดงในรูปแบบ Interactive เพื่อให้ผู้เข้าชมได้มีส่วนร่วมมากที่สุด โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเอสซีจี และความร่วมมือจากมิวเซียมสยาม ในการแนะนำรูปแบบการนำเสนอเพื่อให้ห้องนิทรรศการมีความน่าสนใจและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน รวมไปถึงผู้ใหญ่ก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ ณ ห้องนิทรรศการแห่งนี้ได้....นิทรรศการ “พิพิธ ชัยพัฒนา” ประกอบด้วย 7 โซน คือ
โซนที่ 1 กำเนิดมูลนิธิชัยพัฒนา – เรียนรู้ประวัติการก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา โดย พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มูลนิธิเพียงแห่งเดียวที่ทรงดำรงตำแหน่งองค์นายกกิตติมศักดิ์ ทรงสั่งการและบริหารงานด้วยพระองค์เอง
โซนที่ 2 ลำดับเวลาการพัฒนา ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร – Timeline การก่อเกิดแนวคิด ทฤษฎี โครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำคัญๆ ตลอดระยะเวลาการครองสิริราชสมบัติ
โซนที่ 3 เศรษฐกิจพอเพียง – การประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่ใช้ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาวิชาชีพ
โซนที่ 4 ชัยชนะแห่งการพัฒนา – ห้องฉายภาพยนตร์สารคดีที่ใช้เทคนิคการผสมผสานของภาพ แสง สี เสียง เพื่อให้ผู้ชมมีส่วนร่วมเสมือนอยู่ในเหตุการณ์ ภาพยนตร์จะเรียงร้อยเรื่องราวการเสด็จราชดำเนิน
เยี่ยมราษฎร และพระราชดำรัสพระราชทานแนวทางการทำงานของมูลนิธิชัยพัฒนาจนเกิดเป็น “ชัยชนะแห่งการพัฒนา”
โซนที่ 5 เพลิน – เล่นเพื่อรู้ หรือ Play and Learn โซนเกมส์ที่ให้เยาวชนได้ทดสอบความรู้ความเข้าใจโครงการอย่างง่ายๆ ผ่านรูปภาพและวีดิทัศน์แนะนำโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา
โซนที่ 6 พระบรมสาทิสลักษณ์ – เก็บภาพความประทับใจ โดยถ่ายภาพร่วมกับพระบรมสาทิสลักษณ์
โซนที่ 7 จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที – แสดงพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ลม ไฟ ด้วยระบบ Interactive ซึ่งครอบคลุมงานพัฒนาตั้งแต่นภา ผ่านภูผา สู่มหานที โดยมีวัตถุประสงค์เดียวคือช่วยเหลือราษฎรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โซนที่ 8 สืบสานพระราชปณิธาน – โซนที่เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมลงนามแสดงเจตจำนงเพื่อสืบสานพระราชปณิธาน ซึ่งสามารถทำความดีได้หลากหลายรูปแบบ
ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทอดพระเนตรงาน “มหกรรมตลาดนัดสุขภาพ” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-22 กันยายน 2561 เวลา 09.30-19.00 น. ในงานจะได้พบกับกิจกรรมจาก สมาคมแพทย์แผนไทย จังหวัดนครปฐม ซึ่งมาตรวจวินิจฉัยโรคและให้คำปรึกษาตามหลักเวชกรรมแผนไทย การรักษาและบรรเทาอาการต่างๆ เช่น ข้อเข่าเสื่อม ไมเกรน โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต การปรับสมดุลโครงสร้างระบบกล้ามเนื้อและกระดูกด้วยการนวด รวมถึงแพทย์แผนจีน คือการ ฝังเข็ม ครอบแก้ว กัวซา จัดกระดูก เป็นต้น นอกจากนี้ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม จะได้จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ การช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้น การตรวจประเมินและการจัดการภาวะสารพิษตกค้างในเลือด การปรับสมดุลร่างกายด้วยสมุนไพรฯลฯ
ทั้งนี้ โครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา และศิษย์อุทยานการอาชีพชัยพัฒนา จะได้ร่วมออกร้านแสดงสินค้า ซึ่งเป็นผลิตผลจากการพัฒนาและผลงานการฝึกอบรมจากหลักสูตรต่างๆ อาทิ ร้านจันกะผัก นำพืชผักสดๆ รวมถึงเมล็ดพันธุ์มาจำหน่าย , ข้าวห่อใบบัว จากโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จังหวัดเพชรบุรี , น้ำพริกและไอศกรีมกระจับ จากศูนย์บริการวิชาการเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปทุมธานี ผลิตภัณฑ์จากศิษย์อุทยาน เช่น ขนมช่อม่วง, ไส้กรอกปลาแนม, โรตีแกงพริกขี้หนูสด, ขนมเบื้องญวนโบราณ, กระเป๋าจักสานผักตบชวา, การร้อยตัวกระแต, การทำเดคูพาจ, การพับผ้าเป็นรูปต่างๆ เป็นต้น
โครงการอุทยานการอาชีพชัยพัฒนา จังหวัดนครปฐม เป็นสถานที่อบรมความรู้ด้านวิชาชีพแขนงต่างๆ อาทิ การฝึกอบรมการทำอาหารคาว-หวาน ทั้งไทยและเทศ การฝึกอบรมด้านงานหัตถกรรม การฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ ตลอดจนอบรมวิชาชีพด้านการเกษตรต่างๆ เช่น การเพาะเห็ด การเลี้ยงไส้เดือน ฯลฯ โดยหลักสูตรจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทุกเดือนเพื่อให้เกิดความหลากหลาย นอกจากนี้ ยังให้บริการทางสังคมอื่นๆ เช่น ห้องสมุด ห้องจัดอบรมสัมมนา ห้องจัดเลี้ยง ร้านกาแฟ ร้านภัทรพัฒน์ ธนาคาร ร้านค้าชุมชน และตลาดนัดสุขภาพ
(เปิดเฉพาะวันศุกร์) ซึ่งเปิดโอกาสให้คนในชุมชน และผู้ที่ผ่านการอบรมวิชาชีพได้มีสถานที่จำหน่ายสินค้า จนถึงปัจจุบันโครงการอุทยาน การอาชีพชัยพัฒนา จังหวัดนครปฐม มีผู้เข้ารับการฝึกอาชีพไม่น้อยกว่า 42,000 คน และผู้ใช้บริการทางสังคมด้านอื่นๆ มากกว่า 200,000 คน สามารถเอื้อประโยชน์และส่งเสริมความรู้ในการประกอบอาชีพแก่ประชาชนให้สามารถพัฒนาตนเองและอยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ