- หน้าแรก
- โครงการพระราชดำริ (จำแนกตามวัตถุประสงค์ของโครงการ)
- โครงการสงเคราะห์และสาธารณประโยชน์
- โครงการสาธิตการทำนาในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา อ. ลาดบัวหลวง จ. อยุธยา
โครงการสาธิตการทำนาในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา อ. ลาดบัวหลวง จ. อยุธยา
โครงการสาธิตการทำนาในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา
อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ความเป็นมา / พระราชดำริ
หน่วยงานรับผิดชอบ
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา และกรมส่งเสริมการเกษตร
การดำเนินงาน
ดำเนินโครงการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ในการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี สัปดาห์ละ 1 วัน ติดต่อกัน 16 ครั้ง ต่อ 1 ฤดูปลูก ควบคู่กับการจัดทำแปลงเรียนรู้ จำนวน 2 แปลง ได้แก่ แปลงที่ใช้ระบบชีววิธี และแปลงที่ใช้สารเคมีในการควบคุมศัตรูพืช เพื่อให้เกษตรกรได้เปรียบเทียบผลผลิตข้าว และเข้าใจในหลักการการผลิตข้าวปลอดภัยต่อสารพิษ โดยใช้วิธีควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีเป็นหลัก
ผลการดำเนินงาน
นาแบบปลอดภัยจากสารพิษ ในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีราษฎรสนใจเข้าเป็นสมาชิก จำนวน 25 ราย
ดำเนินการปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ในพื้นที่แปลงสาธิต จำนวน 54 ไร่ แบ่งเป็น แปลงของมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน 50 ไร่ และแปลงเรียนรู้ของเกษตรกร จำนวน 4 ไร่ พบว่า เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯ ที่เข้ารับการฝึกอบรม มีความเข้าใจในเนื้อหาการอบรมเกี่ยวกับการทำเกษตรแบบปลอดสารพิษ และสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพันธุ์ข้าว การขยายพันธุ์ข้าว รวมทั้งการลดการใช้สารเคมี เพื่อลดอันตรายต่อสุขภาพ และเพื่อลดต้นทุนในการผลิต พร้อมทั้งได้รับความรู้จากการอบรมที่มีประโยชน์ และสามารถนำมาใช้ในการทำงานได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีใหม่ เช่น การปลูกข้าวด้วยวิธีโยนกล้า เพื่อลดปัญหาวัชพืชข้าวสำหรับฤดูการเพาะปลูกในปี 2550 - 2551 เกษตรกรสามารถผลิตข้าวเปลือกจากแปลงที่ใช้ระบบชีววิธีได้ จำนวน 1,050 กิโลกรัม คิดเป็นรายได้ 9,900 บาทต่อไร่ และมีผลกำไรสุทธิ 7,060.50 บาทต่อไร่
การดำเนินงานในระยะต่อไป
2. ดำเนินการรับซื้อข้าว จากเกษตรกรในโครงการฯ ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพของข้าว โดยหน่วยงานราชการ และส่งต่อให้แก่โรงสีข้าวของโครงการฯ เพื่อทำการสี และบรรจุถุง พร้อมทั้งจัดจำหน่ายให้แก่บุคคลทั่วไป เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าว
โครงการเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าวจากแปลงสาธิตการทำนา
อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ความเป็นมา
ตามที่ ใต้ฝ่าละอองพระบาท ได้พระราชทานพระราชานุมัติให้มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินงานโครงการเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าวจากโครงการแปลงสาธิตการทำนาในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งโครงการได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ประมาณเดือนมีนาคม 2551
พระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริให้ มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินงานโครงการสาธิตการทำนาในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา ในพื้นที่ 5 จังหวัดได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี เพื่อเป็นแปลงตัวอย่างแก่เกษตรกรในการปลูกข้าวปลอดภัยจากสารพิษ ได้คุณภาพตามมาตรฐาน ใช้ต้นทุนต่ำโดยเฉพาะลด ละ เลิก การใช้สารเคมีในการควบคุมศัตรูพืช เกษตรกรในโครงการและเกษตรกรใกล้เคียงสามารถผลิตข้าวคุณภาพดี แต่ยังคงต้องขายข้าวในราคาที่ต่ำกว่าคุณภาพ ในขณะเดียวกันโรงสีที่รับซื้อข้าวมักนำผลผลิตทั้งหมดรวมกันทำให้คุณภาพด้อยลงไป เมื่อผลผลิตไปถึงผู้บริโภค จึงมักเป็นผลผลิตที่ด้อยคุณภาพ มีสารพิษตกค้างเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานพระราชานุมัติให้ดำเนินโครงการต่อเนื่องคือ โครงการเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าว โดยรับซื้อผลผลิตข้าวจากแปลงของโครงการฯ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานราชการ นำมาสีในโรงสีข้าวพระราชทานโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า แล้วบรรจุถุงภายใต้สัญลักษณ์ของโครงการเพื่อจำหน่ายแก่เกษตรกรและบุคคลทั่วไป
วัตถุประสงค์
1. กระตุ้นให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันผลิตสินค้าที่มีคุณภาพจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม
2. กระตุ้นให้เกษตรกรมีการเรียนรู้ในการผลิตสินค้าปลอดสารพิษเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ลดต้นทุนการผลิตและเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ผลิต ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
3. ส่งเสริมให้เกษตรกรทำงานร่วมกันในรูปกลุ่ม เรียนรู้การบริหาร จัดการผลิตและจำหน่ายแบบครบวงจรเพื่อเป็นพื้นฐานในการทำการเกษตรเชิงธุรกิจ
4. เพื่อให้แปลงของมูลนิธิฯ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในการผลิตและจำหน่ายสินค้าปลอดสารพิษ
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
มูลนิธิชัยพัฒนา กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการข้าว
ผลการดำเนินงาน
โครงการเพิ่มมูลค่าผลผลิตฯ ได้ดำเนินการรับซื้อข้าวจากราษฎรที่ร่วมโครงการแปลงนาสาธิตในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนามาเพื่อทำการสีและบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์เพื่อจัดจำหน่ายเพิ่มเติมจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ และได้ดำเนินการสีข้าวเปลือกพันธุ์หอมปทุมธานี 1 และพิษณุโลก 2 ซึ่งเป็นข้าวที่ผ่านขั้นตอนกรรมวิธีการผลิตให้ปลอดภัยจากสารพิษ และได้รับการตรวจรับรองจากกรมการข้าวและกรมส่งเสริมการเกษตรด้วยแล้ว และนำมาทำการสี จำนวน 61.65 ตัน ได้ข้าวสาร จำนวน 32 ตัน
การดำเนินงานในระยะต่อไป
โครงการเพิ่มมูลค่าผลผลิตฯ นำข้าวเปลือกที่เก็บในยุ้ง ณ โรงสีข้าวโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก จำนวน 59.97 ตัน มาทำการสี ซึ่งจะได้ข้าวสาร จำนวนประมาณ 29.7 ตัน และนำบรรจุถุง (ถุงละ 5 กิโลกรัม) เพื่อเตรียมการออกจำหน่ายในราคา 164 บาท เพื่อรอผลผลิตจากโครงการสาธิตการทำนาของมูลนิธิชัยพัฒนา และจะเริ่มดำเนินการรับซื้อข้าวพันธ์ปทุมธานี 1 ในเดือนมีนาคม 2552 ต่อไป
ความเป็นมา
กระทรวงพลังงานร่วมกับกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรเครือเจริญโภคภัณฑ์เสนอโครงการศูนย์สาธิตและพัฒนาพลังงานทดแทนจากข้าวครบวงจร เพื่อเป็นตัวอย่าง พร้อมถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีให้เกษตรกรเห็นแนวทางการรวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินกิจกรรมและบริหารจัดการธุรกิจข้าว ตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การเพาะปลูกข้าว การทำนาข้าว การเก็บเกี่ยวข้าว การแปรรูปจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร การบริหารจัดการการตลาด รวมถึงการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบจากโรงสีข้าว ไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อป้อนกลับไปใช้ยังโรงสี และเหลือใช้ภายในชุมชน โดยกระทรวงพลังงานสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจำนวน 13.8 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรเครือเจริญโภคภัณฑ์ร่วมสนับสนุนงบประมาณจำนวน 2.5 ล้านบาท รวมทั้งกระทรวงพลังงานมีความประสงค์ที่จะทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรเครื่องผลิตก๊าซจากชีวมวล (Gasifier) ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงพลังงาน แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา
พระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุมัติแผนงาน และแนวทางการดำเนินการโครงการศูนย์สาธิตและพัฒนาพลังงานทดแทนจากข้าวครบวงจรตามที่กระทรวงพลังงานร่วมกับกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์เสนอ โดยทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการภายในที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลลาดบัวหลวง อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากเป็นพื้นที่ดำเนินการโครงการแปลงสาธิตการทำนาในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา และได้มีการส่งเสริมการทำนาแบบชีววิธีไปยังพื้นที่ใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง
หน่วยงานรับผิดชอบ
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์
รูปแบบการดำเนินงาน
จัดตั้งระบบโรงสีข้าวชุมชน เพื่อรองรับกิจกรรมการส่งเสริมการผลิตข้าวชีววิธีของมูลนิธิชัยพัฒนา ในเขตพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้ง เป็นตัวอย่างการแปรรูปข้าว และการบริหารจัดการธุรกิจข้าวของชุมชนอย่างเป็นระบบ การเพิ่มมูลค่าผลผลิต และการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบจากโรงสีข้าว ไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อป้อนกลับไปใช้ยังโรงสี และเหลือใช้ภายในชุมชน
แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วนหลัก ประกอบด้วย การแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร และการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าและใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้ของกระบวนการผลิต ดังนี้
1. การแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร และการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบด้านการเกษตร ประกอบด้วย เครื่องสีข้าว CP-R1000 กำลังการผลิต 1,000 กิโลกรัมข้าวเปลือกต่อชั่วโมง (ประมาณ 3,600 - 7,200 ตันต่อปี) เครื่องอบลดความชื้น และเครื่องสกัดน้ำมันรำ
2. การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล เป็นกระบวนการเปลี่ยนเชื้อเพลิงแข็ง หรือชีวมวลให้อยู่ในสภาวะของก๊าซเชื้อเพลิงด้วยระบบ Gasification เพื่อนำก๊าซเชื้อเพลิงมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าโดยตรง พลังงานไฟฟ้าที่ได้จะป้อนกลับเข้าไปใช้ในระบบโรงสีได้ประมาณร้อยละ 40 ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ และจำหน่ายให้กับการไฟฟ้า หรือชุมชน ประมาณร้อยละ 60 ของไฟฟ้าที่ผลิตได้
ทั้งนี้ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนารับผิดชอบการจัดเตรียมพื้นที่ การก่อสร้างอาคาร และการเตรียมความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับในการดำเนินงาน ในระยะแรกสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาจะรับผิดชอบการดำเนินงาน และการบริหารจัดการโรงสีข้าวชุมชนอย่างเป็นระบบ โดยให้บริการโรงสี และกิจกรรมต่อเนื่องให้กับกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายการผลิตข้าวชีววิธีของมูลนิธิชัยพัฒนา และชุมชนใกล้เคียง ทั้งนี้ ในระยะต่อไปจะส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกร และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และการบริหารจัดการ