- หน้าแรก
- โครงการพระราชดำริ (จำแนกตามวัตถุประสงค์ของโครงการ)
- โครงการสงเคราะห์และสาธารณประโยชน์
- โครงการสาธิตการทำนาในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา อ. บ้านหมี่ จ. ลพบุรี
โครงการสาธิตการทำนาในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา อ. บ้านหมี่ จ. ลพบุรี
โครงการสาธิตการทำนาในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา
อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
ความเป็นมา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราโชบายในการพัฒนาที่ดินโดยพิจารณาจากสภาพภูมิสังคม และการประกอบอาชีพของราษฎรเป็นสำคัญ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จึงสนองพระราโชบายโดยนำโครงการสาธิตการทำนาแบบชีววิธี มาทดลองใช้ในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนาที่มีเกษตรกรเช่าที่ดินทำนาอยู่
หน่วยงานรับผิดชอบ
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา และกรมส่งเสริมการเกษตร
การดำเนินงาน
ดำเนินโครงการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ในการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี สัปดาห์ละ 1 วัน ติดต่อกัน 16 ครั้ง ต่อ 1 ฤดูปลูก ควบคู่กับการจัดทำแปลงเรียนรู้ จำนวน 2 แปลง ได้แก่ แปลงที่ใช้ระบบชีววิธี และแปลงที่ใช้สารเคมีในการควบคุมศัตรูพืช เพื่อให้เกษตรกรได้เปรียบเทียบผลผลิตข้าว และเข้าใจในหลักการการผลิตข้าวปลอดภัยต่อสารพิษ โดยใช้วิธีควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีเป็นหลัก
ผลการดำเนินงาน
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินงานโครงการสาธิตการทำนาแบบปลอดภัยจากสารพิษ ในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี มีราษฎรสนใจเข้าเป็นสมาชิก จำนวน 25 ราย ดำเนินการปลูกข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 1 ในพื้นที่แปลงสาธิต จำนวน 28 ไร่ แบ่งเป็น แปลงของมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน 20 ไร่ และแปลงเรียนรู้ของเกษตรกร จำนวน 8 ไร่ พบว่า เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯ ที่เข้ารับการฝึกอบรม มีความเข้าใจในเนื้อหาการอบรมเกี่ยวกับการทำเกษตรแบบปลอดสารพิษ และสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพันธุ์ข้าว การขยายพันธุ์ข้าว รวมทั้ง การลดการใช้สารเคมี เพื่อลดอันตราย ต่อสุขภาพ และเพื่อลดต้นทุนในการผลิต พร้อมทั้งได้รับความรู้จากการอบรมที่มีประโยชน์ และสามารถนำมาใช้ในการทำงานได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีใหม่ เช่น การปลูกข้าวด้วยวิธี โยนกล้า เพื่อลดปัญหาวัชพืชข้าว สำหรับฤดูการเพาะปลูกในปี 2550 - 2551 เกษตรกรสามารถผลิตข้าวเปลือกจากแปลงที่ใช้ระบบชีววิธีได้ จำนวน 1,000 กิโลกรัม คิดเป็นรายได้ 10,100 บาทต่อไร่ และมีผลกำไรสุทธิ 9,770 บาทต่อไร่
การดำเนินงานในระยะต่อไป
1. ดำเนินการเปิดการฝึกอบรมการทำนาแบบชีววิธีเป็นรุ่นที่ 5 ในพื้นที่ และมีเป้าหมายในการฝึกอบรมเกษตรกรในโครงการ จำนวน 200 คน
2. ดำเนินการรับซื้อข้าว จากเกษตรกรในโครงการฯ ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพของข้าว โดยหน่วยงานราชการ และส่งต่อให้แก่โรงสีข้าวของโครงการฯ เพื่อทำการสี และบรรจุถุง พร้อมทั้งจัดจำหน่ายให้แก่บุคคลทั่วไป เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าว