- หน้าแรก
- โครงการพระราชดำริ (จำแนกตามวัตถุประสงค์ของโครงการ)
- โครงการสงเคราะห์และสาธารณประโยชน์
- โครงการสาธิตการทำนาในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
โครงการสาธิตการทำนาในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
โครงการสาธิตการทำนาในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา
อำเภอบางปะม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
ความเป็นมา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราโชบายในการพัฒนาที่ดินโดยพิจารณาจากสภาพภูมิสังคม และการประกอบอาชีพของราษฎรเป็นสำคัญ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จึงสนองพระราโชบายโดยนำโครงการสาธิตการทำนาแบบชีววิธี มาทดลองใช้ในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนาที่มีเกษตรกรเช่าที่ดินทำนาอยู่
หน่วยงานรับผิดชอบ
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา และกรมส่งเสริมการเกษตร
การดำเนินงาน
ดำเนินโครงการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ในการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี สัปดาห์ละ 1 วัน ติดต่อกัน 16 ครั้ง ต่อ 1 ฤดูปลูก ควบคู่กับการจัดทำแปลงเรียนรู้ จำนวน 2 แปลง ได้แก่ แปลงที่ใช้ระบบชีววิธี และแปลงที่ใช้สารเคมีในการควบคุมศัตรูพืช เพื่อให้เกษตรกรได้เปรียบเทียบผลผลิตข้าว และเข้าใจในหลักการการผลิตข้าวปลอดภัยต่อสารพิษ โดยใช้วิธีควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีเป็นหลัก
ผลการดำเนินงาน
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินงานโครงการสาธิตการทำนาแบบปลอดภัยจากสารพิษ ในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีราษฎรสนใจเข้าเป็นสมาชิก จำนวน 19 ราย ดำเนินการปลูกข้าวพันธุ์ชัยนาท 80 ในพื้นที่แปลงสาธิต จำนวน 20.2 ไร่ แบ่งเป็น แปลงของมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน 16 ไร่ และแปลงเรียนรู้ของเกษตรกร จำนวน 4.2 ไร่ พบว่า เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯ ที่เข้ารับการฝึกอบรม มีความเข้าใจในเนื้อหาการอบรมเกี่ยวกับการทำเกษตรแบบปลอดสารพิษ และสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพันธุ์ข้าว การขยายพันธุ์ข้าว รวมทั้งการลดการใช้สารเคมี เพื่อลดอันตรายต่อสุขภาพ และเพื่อลดต้นทุนในการผลิต พร้อมทั้งได้รับความรู้จากการอบรมที่มีประโยชน์ และสามารถนำมาใช้ในการทำงานได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีใหม่ เช่น การปลูกข้าวด้วยวิธีโยนกล้า เพื่อลดปัญหาวัชพืชข้าว
สำหรับฤดูการเพาะปลูกในปี 2550 - 2551 เกษตรกรสามารถผลิตข้าวเปลือกจากแปลงที่ใช้ระบบชีววิธีได้ จำนวน 790 กิโลกรัม คิดเป็นรายได้ 5,925 บาทต่อไร่ และมีผลกำไรสุทธิ 3,085 บาทต่อไร่
การดำเนินงานในระยะต่อไป
1. ดำเนินการเปิดการฝึกอบรมการทำนาแบบชีววิธีเป็นรุ่นที่ 5 ในพื้นที่ และมีเป้าหมายในการฝึกอบรมเกษตรกรในโครงการ จำนวน 200 คน
2. ดำเนินการรับซื้อข้าว จากเกษตรกรในโครงการฯ ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพของข้าว โดยหน่วยงานราชการ และส่งต่อให้แก่โรงสีข้าวของโครงการฯ เพื่อทำการสี และบรรจุถุง พร้อมทั้งจัดจำหน่ายให้แก่บุคคลทั่วไป เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าว