- หน้าแรก
- โครงการพระราชดำริ (จำแนกตามวัตถุประสงค์ของโครงการ)
- โครงการสงเคราะห์และสาธารณประโยชน์
- โครงการอุทยานการอาชีพ ต.บ่อพลับ อ.เมือง จ.นครปฐม
โครงการอุทยานการอาชีพ ต.บ่อพลับ อ.เมือง จ.นครปฐม
โครงการอุทยานการอาชีพ ชัยพัฒนา
ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
ความเป็นมา
นางสาวคมคาย นิลประภัสสร ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม จำนวน
พระราชดำริ
คณะกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนาได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2548 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2548 อนุมัติในหลักการ แนวทางการดำเนินงาน และการบริหารจัดการ โครงการอุทยานการอาชีพในที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เพื่อให้วิทยาการและบริการวิชาการ โดยเฉพาะด้านการอาชีพในหลากหลายรูปแบบแก่เยาวชน และประชาชนผู้สนใจ พร้อมทั้งให้บริการทางสังคมแก่ท้องถิ่น เพื่อให้สามารถดำเนินการตามแนวพระราชดำริในการส่งเสริมให้เป็นศูนย์วิชาการ และศูนย์ข้อมูลทางด้านการพัฒนาอาชีพ ตลอดจนเป็นแหล่งฝึกอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเป็นแหล่งวิชาการและแหล่งข้อมูลด้านการพัฒนาอาชีพ ตลอดจนเป็นแหล่งฝึกอาชีพภายในพื้นที่ เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนและประชาชนผู้สนใจทั่วไปโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา รวมทั้งเป็นต้นแบบของแหล่งการเรียนรู้ในด้านการอาชีพ และการให้บริการทางวิชาการที่หลากหลายครบวงจร
2. เพื่อปลูกฝังและเผยแพร่ปรัชญาตามแนวพระราชดำริให้กับผู้เข้ารับการอบรม และขยายผลไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน รวมทั้งอนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้สามารถใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและชุมชนอย่างยั่งยืน
3. เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งธุรกิจท้องถิ่น แหล่งท่องเที่ยว และแหล่งบริการทางสังคมแก่เยาวชน และประชาชนทั่วไป
เป้าหมาย
อุทยานการอาชีพชัยพัฒนา จังหวัดนครปฐม จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์วิชาการ และศูนย์ข้อมูลด้านการอาชีพ สามารถให้บริการแก่เยาวชน และประชาชนผู้สนใจในจังหวัดนครปฐม และจังหวัดใกล้เคียง โดยจะเปิดดำเนินการภายในเดือนกรกฎาคม 2552 ทั้งนี้ เป้าหมายหลักในการดำเนินงานโครงการจะไม่แสวงหากำไร แต่จะให้สามารถสร้างรายได้เพียงพอสำหรับการดำเนินกิจกรรม
องค์ประกอบการดำเนินงาน
การดำเนินงานประกอบด้วยกิจกรรม 2 ส่วน ดังนี้
1. ด้านวิชาการ ประกอบด้วย การฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น และการบริการด้านวิชาการต่างๆ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชนสมัยใหม่ ห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องสัมมนาวิชาการ การจัดกิจกรรมทางวิชาการ นิทรรศการ และกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ตลอดจนจัดทำสวนสาธิตด้านการเกษตร และการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยจัดทำสวนสมุนไพร สวนไม้ในวรรณคดี ระบบบำบัดน้ำเสีย และการกำจัดขยะด้วยวิธีธรรมชาติ
2. ด้านการสนับสนุนวิชาการ เป็นการจัดการให้บริการในเชิงธุรกิจ เพื่อนำรายได้มาสนับสนุนการดำเนินงานในด้านวิชาการ รวมทั้ง เป็นตลาดรองรับการฝึกอาชีพ และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น โดยจะจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นส่วนของร้านค้าที่คนทั่วไปสามารถมาจับจ่ายใช้สอยสินค้า/บริการ รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการจัดเลี้ยงภายในตึกสัมมนา เพื่อเพิ่มรายได้สนับสนุนงานด้านวิชาการของโครงการ
การดำเนินงานในปี 51
1. ด้านกายภาพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานพระราชานุมัติงบประมาณการดำเนินงานก่อสร้างโครงการอุทยานการอาชีพชัยพัฒนา จังหวัดนครปฐม ระยะที่ 1 วงเงินดำเนินการรวมทั้งสิ้น 140.0 ล้านบาท และได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนเมษายน 2550 ประกอบด้วยการก่อสร้างอาคารวิชาการ อาคารสัมมนา อาคารร้านค้า รวมทั้งระบบถนน ท่อระบายน้ำ และระบบสาธารณูปการภายในโครงการ ทั้งนี้ ในปี 2551 ได้มีการปรับแบบการก่อสร้างอาคารต่างๆ ได้แก่ การปรับเพิ่มพื้นที่การใช้ประโยชน์ภายในอาคารวิชาการ พื้นที่ห้องสมุด และพื้นที่การให้บริการในอาคารสัมมนา รวมทั้งการเชื่อมต่อเติมร้านค้า เพื่อให้สามารถตอบสนองการใช้งานรูปแบบต่างๆ และเพิ่มโอกาสในการจัดกิจกรรม และสร้างรายได้ให้กับโครงการ ทำให้จำเป็นต้องมีการชะลอการก่อสร้างบางส่วน โดยปัจจุบันมีความก้าวหน้างานก่อสร้างรวมประมาณร้อยละ 43 ทั้งนี้ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการอาคารวิชาการ และอาคารร้านค้าภายในเดือนเมษายน 2552 สำหรับอาคารสัมมนาคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2552
2. ด้านงานวิชาการ ได้จัดให้มีการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น การศึกษาดูงาน และการบรรยายทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเป็นการทดลอง และเตรียมความพร้อมของหลักสูตรการอบรม และเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการ รวมทั้งประสานสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายภายในพื้นที่จังหวัดนครปฐม โดยในปี 2551 ได้จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น 4 โครงการ ได้แก่ การจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสำหรับโรงงาน SME การร้อยตัวกระแตด้วยดอกไม้สด และการร้อยมาลัยห่วงรัก มีผู้ได้รับวุฒิบัตรทั้งสิ้น 69 คน ในด้านการจัดการศึกษาดูงาน ได้จัดการศึกษาดูงาน โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี มีผู้ร่วมศึกษาดูงาน 42 คน และได้จัดการบรรยายทางวิชาการ 3 ครั้ง ได้แก่ การบรรยายโดย ศ.ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ในเรื่อง กระบวนการเรียนรู้ควบคู่คุณธรรม : เพื่อไปสู่ผู้นำทางปัญญา และเรื่อง ภาวะโลกร้อน : มหันตภัยใกล้ตัว และการบรรยายโดย ศ.ศักดา ศิริพันธ์ ในเรื่อง กลยุทธ์การตลาดอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งนี้ มีผู้เข้ารับฟังการบรรยายรวมทั้งสิ้น 278 คน
3. ด้านการบริหารจัดการ ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานราชการในพื้นที่ หน่วยงานท้องถิ่น และชุมชน ได้แก่ การค้าภายในจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ชมรมธนาคารนครปฐม เทศบาลนครนครปฐม ประธานชุมชน ผู้บริหารตลาด และบริษัทเอกชนในจังหวัดนครปฐม เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของประเภทร้านค้าภายในโครงการ โดยข้อคิดเห็นเบื้องต้นว่ากิจกรรมร้านค้าภายในโครงการนอกจากจะให้บริการชุมชนแล้ว ควรเป็นตลาดให้กับผลผลิตของชุมชน และผลผลิตของผู้เข้ารับการอบรมในโครงการด้วย ดังนั้น จึงควรจัดให้มีร้านในลักษณะมินิมาร์เกต ร้านหนังสือสมัยใหม่ ร้านอาหาร ร้านนวดแผนโบราณและแพทย์ทางเลือก และร้านในโครงการส่วนพระองค์ เช่น ร้านภูฟ้า นอกจากนี้ ควรจัดให้มีการให้บริการของอำเภอ เช่น การทำบัตรประชาชน การต่อทะเบียนทหาร เป็นต้น เพื่อเป็นการดึงคนให้มาใช้บริการภายในพื้นที่โครงการ
การดำเนินงานในระยะต่อไป
1. ด้านกายภาพ ในปี 2552 จะดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่เหลือ ได้แก่ อาคารวิชาการ อาคารสัมมนา ห้องสมุด ร้านค้า รั้วรอบโครงการ ระบบท่อระบายน้ำ และระบบสาธารณูปการ รวมทั้งดำเนินการตกแต่งภายใน และภูมิสถาปัตย์ภายนอกอาคาร โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการภายในเดือนกรกฎาคม 2552
2. ด้านวิชาการ ในปี 2552 จะดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการเชิงรุก โดยจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้แก่ หน่วยงานปกครองท้องถิ่นระดับตำบลและอำเภอ หน่วยงานการศึกษาระดับโรงเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษา และองค์กรเอกชน เพื่อรับทราบแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะให้สามารถวางแผนการดำเนินงานโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น และชุมชน นอกจากนี้จะได้สำรวจ และศึกษาความต้องการด้านการฝึกอาชีพ และองค์ความรู้ที่จำเป็นกับการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพ โดยจะกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ร่างหลักสูตร และเตรียมความพร้อมด้านวัสดุอุปกรณ์และคุรภัณฑ์ เพื่อรองรับการเปิดให้บริการในปี 2552 ทั้งนี้ ในช่วงที่การก่อสร้างด้านกายภาพยังไม่แล้วเสร็จ จะได้จัดกิจกรรมทางวิชาการ พร้อมทั้งมีการประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
3. ด้านบริการวิชาการ ในปี 2552 จะดำเนินการจัดหาหนังสือ และข้อมูลด้าน Software ต่างๆ สำหรับใช้ในห้องสมุด โดยจะให้ความสำคัญกับข้อมูลด้านการอาชีพ ประวัติศาสตร์ และความรู้ที่จำเป็นกับการดำรงชีวิต และการส่งเสริมคุณภาพชีวิต โดยห้องสมุดจะประกอบด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย และมีห้องปฏิบัติการทางภาษา (อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น) รวมทั้งจะได้จัดให้มีการสัมมนาทางวิชาการ การจัดกิจกรรมวิชาการ การจัดนิทรรศการ และการจัดกิจกรรมสันทนาการ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนในพื้นที่จังหวัดนครปฐมมีความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม และมีความรู้สึกมีส่วนร่วม ผูกพัน และมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ
4. ด้านการบริหารจัดการ และการเงิน เตรียมการเปิดให้บริการโครงการอุทยานการอาชีพ โดยการจัดหาผู้บริหารโครงการในลักษณะการจ้างบริหาร (Management Contract) จัดหาครุภัณฑ์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ในอาคารต่างๆ คัดเลือกผู้ประกอบการร้านค้าที่เหมาะสมสำหรับโครงการ ประชาสัมพันธ์ให้ท้องถิ่นรับทราบถึงการดำเนินงานของโครงการ พร้อมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนมาใช้บริการ ตลอดจนกำหนดแนวทางการบริหาร กำกับดูแล และติดตามประเมินผลการดำเนินงานของผู้รับจ้างบริหารโครงการ ให้เป็นไปตามแผนงาน และนโยบายของโครงการ ทั้งในส่วนของผลงาน และการควบคุมทางการเงิน