- หน้าแรก
- เอกสารเผยแพร่
- บทความที่น่าสนใจ
- สำรวจแม่น้ำใต้ดิน ที่อินโดนีเซีย
สำรวจแม่น้ำใต้ดิน ที่อินโดนีเซีย
ธนฤทธิ์ รัชตะประกร
หลัง จากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริถึงวิธีการเก็บกักน้ำรูปแบบ ใหม่ ในบริเวณพื้นที่โครงการหลวงห้วยลึก ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียวดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้พิจารณาบริเวณที่เหมาะสมที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กโดยการกักเก็บ น้ำในถ้ำ ซึ่งเป็นวิธีการกักเก็บน้ำแบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน นอกจากจะเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรแล้ว ยังสามารถลดการระเหยของน้ำและช่วยให้มีระดับน้ำใต้ดินเพิ่มมากขึ้น โดยมูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับกรมชลประทานได้สนองพระราชดำริโดยการก่อสร้าง โครงการกักเก็บน้ำในถ้ำตามพระราชดำริ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโครงการฯ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2549
การสนองพระราชดำริ โดยการจัดทำ โครงการระบบกักเก็บน้ำในถ้ำตามพระราชดำริ ถือ ว่าเป็นโครงการที่ยังไม่เคยมีหน่วยงานใดในประเทศไทย หรือในโลกเคยทำมาก่อนและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงคิดและค้นหารูปแบบ ในการที่จะพัฒนาระบบชลประทานให้มีความก้าวหน้า โดยมีพระราชกระแสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาวิทยาการใหม่ ๆ ที่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียได้ศึกษาทดลองอยู่ในปัจจุบันเพื่อนำมาปรับเปลี่ยนและ ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถาพภูมิสังคมของประเทศไทย
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ดร.สุเมธ ตันติ เวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาและเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ พร้อมคณะผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ 2 ท่าน และคณะผู้เชี่ยวชาญจากกรมชลประทานอีก 2 ท่าน รวม 6 ชีวิต จึงได้เดินทางไปยังเมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับระบบชลประทาน และการนำน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใช้ในการอุปโภค บริโภค และการทำการเกษตรซึ่งระบบชลประทานด้วยวิธีการดังกล่าว ยังไม่เคยดำเนินการในประเทศไทยมาก่อน
คณะฯ ได้ออกเดินทางจากสนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2549 เวลา 07.55 น. โดย TG 433 ไป ยังสนามบินกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย หลังจากเดินทางถึงกรุงจาการ์ตา คณะฯ ได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงจาการ์ตา ให้การต้อนรับและนำคณะไปรับประทานอาหารกลางวันที่กอล์ฟคลับห่างจากสนามบิน ประมาณ 12 กิโลเมตร เพื่อรอการเปลี่ยนเครื่องบินไปยังจุดหมายที่เมืองยอกยาการ์ตา โดยใช้เวลาในการรอประมาณ 4 ชั่วโมง
หลังจากนั้นเวลา 16.00 น. คณะฯ ได้ออกเดินทางจากกรุงจาการ์ตา ไปยังเมืองยอกยาการ์ตา ถึงสนามบินเวลาประมาณ 17.00 น.หลังจากนั้น Mr. Iswantoro เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ประเทศอินโดนีเซียได้เดินทางมาต้อนรับและนำคณะเข้าที่พัก ที่โรงแรมควอลิตี้ (Quality Hotel) หลังจากนั้น เวลาประมาณ 18.30 น. Mr. Iswantoro ได้นำคณะเที่ยวชมเมืองและรับประทานอาหารเย็นในตัวเมือง ซึ่งเป็นอาหารทะเลที่ขึ้นชื่อของเมืองนี้ แต่ราคาค่อนข้างถูก เพราะเป็นร้านธรรมดาที่อยู่ริมถนน และชาวเมืองนิยมรับประทานอาหารที่ร้านนี้เป็นจำนวนมาก หลังจากใช้เวลารับประทานอาหารและเที่ยวชมเมืองราวชั่วโมงเศษ คณะฯ จึงเดินทางกลับที่พัก เพื่อเตรียมตัวสำหรับการศึกษาดูงานในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการเดินทางครั้งนี้
เริ่มต้นเช้าวันใหม่ ของวันที่ 5 กันยายน 2549 หลังจากรับประทานอาหารเช้า คณะเดินทางได้ออกจากที่พักในเวลาประมาณ 08.30 น.โดย Mr. Iswantoro ได้มารับคณะเหมือนเดิม ที่หมายแรกของวันนี้ ได้เดินทางไปพบกับ Mr. Sudjatmoko ผู้อำนวยการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ที่สำนักงานฯ โดย Mr. Sudjatmokoได้ ต้อนรับและบรรยายเกี่ยวกับความเป็นมาในการก่อสร้างระบบกักเก็บน้ำใต้ดินของ ประเทศอินโดนีเซีย พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการเตรียมตัวสำหรับการเดินทางไปสำรวจ ศึกษา และดูงานในวันนี้ ซึ่งสร้างความตื่นตัว ผสมกับความหวาดกลัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้แก่คณะฯ จากเมืองไทยพอสมควรตั้งแต่ยังไม่ได้ออกเดินทาง เนื่องจากคำแนะนำเหล่านั้น คล้ายกับว่าอีกไม่กี่นาทีข้างหน้าจะได้ออกไปผจญภัยในที่ ๆ ไม่ค่อยจะมีใครได้เดินทางไปสัมผัสมากนัก อาทิ การล่องเรือในแม่น้ำ ซึ่งไหลอยู่ใต้ดินที่มีความลึกเทียบเท่าความสูงของตึก 20 ชั้น และไม่มีแสงสว่างสองลงไปถึง
หลัง จากนั้น คณะฯ ได้ออกเดินทางไปยังจุดหมายแรกโดยได้มีการเตรียมเสบียงอาหาร น้ำดื่ม รวมทั้งสัมภาระที่จำเป็นสำหรับการเดินทาง เช่น ถ่านไฟฉายและอุปกรณ์ปฐมพยาบาล เป็นต้น การเดินทางจากตัวเมืองไปยังที่หมายแรกใช้รถตู้เป็นยานพาหนะ โดยมีสารถีเป็นคนท้องถิ่น อายุประมาณ 40 45 ปี ฝีมือในการขับขี่ระดับนักแข่งมืออาชีพสร้างความตื่นเต้นให้แก่คณะฯ ตั้งแต่เริ่มออกเดินทาง ใช้เวลาการเดินทางถึงที่หมายแรกประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที
เมื่อ ถึงที่หมายแรก ได้พบกับเจ้าหน้าที่ประจำโครงการอีก 5 คน ซึ่งทุก ๆ คน ได้ให้การต้อนรับคณะจากเมืองไทยด้วยดีโดยได้แนะนำถึงวิธีการเตรียมตัวลงไป สู่ระบบกักเก็บน้ำใต้ดินความลึกถึง 110 เมตร มีการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้พร้อมรับมือกับการลงสำรวจใต้ดิน เช่น ร้องเท้าบู๊ต หมวดเซฟตี้ ติดไฟฉาย เสื้อชูชีพ เป็นต้น การลงไปสู่ชั้นใต้ดินต้องใช้ลิฟต์ที่มีลักษณะคล้ายลูกกรงเหล็กขนาดใหญ่ ลงไปใต้พื้นดินที่ขุดไว้ด้วยเครื่องจักรสมัยใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ประเทศเยอรมนี ขนาดพื้นที่ทำการเจาะมีลักษณะเป็นวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เมตร ความลึก 100 กว่าเมตร ภายในพื้นที่ใต้ดิน ต้องอัดออกซิเจนผ่านท่อขนาดใหญ่ลงไปด้วย เพราะอากาศไม่สามารถผ่านลงไปถึงได้
ใน ขณะที่อยู่ภายในลิฟต์ และลงสู่ใต้พื้นดิน ความมืดมิดส่งผลให้ไม่สามารถมองเห็นสิ่งใดได้ ได้ยินเพียงเสียงพูดคุยเสียงลมหายใจเท่านั้น อากาศภายใต้พื้นดินค่อนข้างร้อนและอับ เนื่องจากอยู่ในเขตภูเขาไฟเก่า เสื้อผ่าของทุก ๆ คนชุ่มไปด้วยเหงื่อ การหายใจเต็มไปด้วยความอึดอัด เมื่อลงไปถึงจุดที่ลึกที่สุด แสงสว่างจากไฟฉายทำให้มองเห็นว่า ภายในชั้นใต้ดิน บริเวณรอบ ๆ ลิฟต์ที่เราอยู่นั้น เต็มไปด้วยน้ำ เมื่อเจ้าหน้าที่ของอินโดนีเซียกระโดดลงไปจากลิฟต์จะเห็นได้ชัดเจนว่า ระดับน้ำที่มีอยู่โดยรอบ มีความสูงถึงระดับคอของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นภายใต้พื้นดินบริเวณดังกล่าวได้มี การสร้างฝายเพื่อกักเก็บน้ำเอาไว้ไม่ให้น้ำไหลออกสู่ทะเลโดยไร้ประโยชน์ซึ่ง เจ้าหน้าที่ของอินโดนีเซียได้บรรยายถึงวิธีการก่อสร้างวัตถุประสงค์และ ประโยชน์ที่ได้รับให้คณะฯ จากเมืองไทยได้รับทราบก่อนจะนำคณะฯ กลับสู่พื้นดิน
ใน ช่วงบ่าย หลังจากรับประทานอาหาร คณะฯ ได้เดินทางโดยรถตู้ไปยังจุดที่สอง ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 45 นาที หลังจากเปลี่ยนเครื่องแต่งกายอีกครั้ง คณะฯ ได้เดินทางลงไปชมระบบกักเก็บน้ำอีกหนึ่งแห่งซึ่งอยู่ภายในถ้ำ และต้องเดินเข้าไปในถ้ำ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร สภาพภายในถ้ำมีลักษณะคดเคี้ยว แสงสว่างส่องเข้าไปไม่ถึง อากาศร้อนและอับ พื้นดินขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ เส้นทางบางช่วงไม่สามารถเดินตัวตรงได้ เนื่องจากความคับแคบ ทำให้ต้องก้มตัว หรือย่อเข้าขณะเดิน บางช่วงถึงขนาดต้องคลานและมุดเข้าไป เครื่องแต่งกายของทุก ๆ คน เต็มไปด้วยเหงื่อและโคลน ประกอบกับอากาศภายในถ้ำที่มีปริมาณน้อยอยู่แล้วสามารถมองเห็นเส้นทางข้าง หน้าได้จากแสงสว่างจากไฟฉายเพียงน้อยนิดเท่านั้น ทำให้คณะฯ ต้องประสบกับความยากลำบากในการเดินทางเป็นอย่างยิ่ง ไม่เว้นแม้แต่ข้าราชการเกษียณอายุบางท่าน ที่ต้องร่วมเดินทางผจญภัยในครั้งนี้ทั้งที่มีอายุเกือบถึงหลัก 70 ปีแล้ว
เมื่อ คณะฯ กึ่งเดินกึ่งคลานจนถึงที่หมาย คือระบบกักเก็บน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นที่หมายหลักของการเดินทางในครั้งนี้ ทุก ๆ คนต้องตะลึงกับภาพที่ได้เห็นและเสียงที่ได้ยิน เพราะภายในถ้ำที่อยู่ห่างลงมาจากผืนแผ่นดินหลายกิโลเมตรนั้น มีแม่น้ำขนาดใหญ่สายหนึ่งไหลผ่านอยู่ใต้ดินแห่งนี้มานับร้อยปีแล้วเสียงของ น้ำที่ไหล ฟังดูคล้ายน้ำตกขนาดใหญ่บนแผ่นดิน ทั้ง ๆ ที่สภาพบนพื้นดินของนี้ค่อนข้างแห้งแล้งและทุรกันดารมากแม่น้ำสายใหญ่บนผืน ดินมีน้ำไหลเพียงน้อยนิด ตรงกันข้ามกับแม่น้ำใต้ดินโดยสิ้นเชิง เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียได้อธิบายให้คณะได้รับทราบว่า ก่อนที่รัฐบาลอินโดนีเซียจะสำรวจพบแม่น้ำใต้ดินสายนี้ น้ำจากแม่น้ำได้ไหลผ่านชั้นใต้ดินออกสู่ทะเลโดยไม่มีการใช้ประโยชน์ใด ๆ เลย หลังจากนั้นได้นำคณะฯ เยี่ยมชมสิ่งก่อสร้างภายในถ้ำ อาทิ ระบบกับเก็บน้ำ ระบบฝาย และเครื่องจักรที่ทันสมัยในการเก็บและนำน้ำไปใช้บนพื้นดิน ซึ่งคณะฯ จะต้องใช้ไฟฉาย พร้อมใส่เสื้อชูชีพเดินข้ามแม่น้ำในส่วนที่ตื้นที่สุด แต่มีความลึกประมาณระดับกลางลำตัวและไหลแรงมาก ๆ หากมีผู้ใดพลาดเสียหลัก อาจถูกน้ำพัดพาหลุดเข้าไปส่วนลึกของถ้ำที่มือมิดที่มีความเสี่ยงต่อความ ปลอดภัยมาก ในวันนั้นถือว่าโชคดีที่คณะฯ ทั้งฝ่ายไทยและอินโดนีเซียสามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งได้ศึกษาดูงานอย่างละเอียดและกลับสู่บนพื้นดินได้อย่างปลอดภัย
การเดินทางไปศึกษาดูงานระบบกักเก็บน้ำใต้ดิน ณ เมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียครั้งนี้ และได้ให้ความรู้และได้เห็นวิทยาการด้านชลประทานอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่มีในประเทศไทย สามารถสร้างแนวคิดและวิธีการใหม่ ๆ ในการเก็บกักและนำทรัพยากรน้ำจากพื้นที่ในส่วนลึกของผืนดินมาใช้ประโยชน์ ถึงแม้ว่าในประเทศไทยจะไม่มีลักษณะภูมิประเทศเหมือนประเทศอินโดนีเซีย แต่เราสามารถนำ รูปแบบ แนวคิด และวิทยาการใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาพื้นที่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เพื่อวัตถุประสงค๋ในด้านการเกษตรและการอนุรักษ์ทรัพยากรในผืนแผ่นดินไทยต่อ ไป