- หน้าแรก
- เอกสารเผยแพร่
- บทความที่น่าสนใจ
- โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม
โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม
นิคมอุตสาหกรรมอ่าวลึก จำกัด จังหวัดกระบี่
รศ.ดร.สัณห์ชัย กลิ่นพิกุล
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ใน ช่วงกลางปี 2543 ราคาน้ำมันปิโตรเลียมในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นต้องรณรงค์ให้มีการประหยัดการใช้น้ำมัน ด้วยการจัดวันงดใช้รถยนต์ (car free day) ขึ้น ต่อมาประมาณเดือนสิงหาคม 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชกระแสมายัง นายชัยวัฒน์ สิทธิ บุศย์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมา จากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ว่าสามารถนำน้ำมันปาล์มมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซลได้หรือไม่ และถ้าหากว่าใช้ได้แล้ว ไอเสียที่ออกมาจากเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิงนั้น จะมีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ ซึ่งคณะผู้ดำเนินการโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็กอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดทำรายงานทูลเกล้าฯ ถวายผ่านกองโครงการส่วนพระองค์ว่า น้ำมันปาล์มสามารถนำมาแปรรูปด้วยกระบวนการทรานเอสเตอริฟิเคชั่นเป็นเมทิลเอส เตอร์ หรือ
ไบ โอดีเซลใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลได้ และไอเสียที่ออกมาจากเครื่องยนต์ที่ใช้ไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิงจะมีเขม่า ควันน้อยกว่า รวมทั้งไม่มีสารพิษก่อมะเร็งด้วย ซึ่งในต่างประเทศได้มีการนำไบโอดีเซลไปใช้งานในเหมืองใต้ดิน และเรือเดินทะเล เป็นต้น
ต่อ มาเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2543 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ และเมทิลเอสเตอร์ที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มในการเดินเครื่องจักรกลการเกษตรที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันสาธิตถวายภายใต้การนำของท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และในปีต่อมา 2544 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิชัยพัฒนาให้ ดำเนินการโครงการที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำมันปาล์มมาแปรรูปเป็นน้ำมันเชื้อ เพลิงทดแทนน้ำมันดีเซล รวม 2 โครงการ คือ
โครงการทดสอบการใช้น้ำมันปาล์มทดแทนน้ำมันดีเซลในเครื่องจักรกลการเกษตร งบประมาณ 3,063,800 บาท โดยมี รศ.กำพล ประทีปชัยกูร เป็นหัวหน้าโครงการ
โครงการ จัดตั้งโรงงานต้นแบบสกัดน้ำมันปาล์มขนาดกำลังผลิต 2 ตันทะลายต่อชั่วโมง ที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ งบประมาณ 7,960,000 บาท โดยมี รศ.ดร.สัณห์ชัย กลิ่นพิกุล เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งมีได้มีมติของคณะกรรมการบริหารสหกรณ์ฯ ที่จะเข้าร่วมดำเนินการสนองพระราชดำริ มาก่อนหน้านี้แล้ว
การดำเนินงานที่ผ่านมา
โรง งานสกัดน้ำมันปาล์มต้นแบบในระดับสหกรณ์ เป็นโรงงานขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิต 2 ตันทะลายต่อชั่วโมง สามารถรับผลผลิตปาล์มน้ำมันได้ประมาณ 3,000-4,000 ไร่ ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ออกแบบโรงงาน โดยใช้กระบวนการทอดผลปาล์มในสภาพสุญญากาศ ทำให้ไม่มีน้ำเสียจากผลการผลิต เมื่อได้รับงบประมาณในช่วงต้นปี 2544 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ออกแบบคำนวณและเขียนแบบแปลนอาคาร รวมทั้งเครื่องจักร จากนั้นเริ่มก่อสร้างอาคารโรงงาน และสั่งสร้างเครื่องจักร ในช่วงปี 2545 และในปี 2546 ก็ได้เริ่มทดสอบระบบต่าง ๆ แต่ เนื่องจากเป็นโรงงานใหม่ที่ยังไม่เคยมีการสร้างมาก่อน จึงต้องใช้เวลาในการแก้ไขปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ และแก้ปัญหาด้านเทคนิคต่าง ๆ รวมทั้งต้องจัดหางบประมาณเพิ่มเติม จากเงินกองทุนเงินบริจาค และเงินอุดหนุนจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อีก รวมประมาณ 3.2 ล้านบาท
จน ถึงเดือนมีนาคม 2547 สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด จึงเริ่มดำเนินการสกัดน้ำมันปาล์มได้ โดยทำงานวันละ 8 ชั่วโมง 1 กะ ใช้ผลปาล์มร่วงเป็นวัตถุดิบทั้งหมด เนื่องจากขาดแคลนแรงงานสับทะลายปาล์มสด จึงทำให้ปาล์มน้ำมันดิบที่สกัดได้มีปริมาณกรดไขมันอิสระสูงประมาณ 10 % แต่มีประสิทธิภาพการสกัดน้ำมันสูงถึง 30-35 % ของ น้ำหนักผลปาล์มที่เข้าผลิตซึ่งสหกรณ์ฯ ได้ฝากขายน้ำมันปาล์มดิบทั้งหมดที่โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มของชุมชนสหกรณ์ชาว สวนปาล์มจังหวัดกระบี่ ในราคาประมาณ 12.50-13.50 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อลดภาระด้านการจัดจำหน่ายเอง ส่วนกากปาล์มที่เป็นผลพลอยได้นั้น สหกรณ์ฯ สามารถจำหน่ายได้ทั้งหมด ต่อมา สหกรณ์ฯ ได้มีการปรับแผนการดำเนินงานเพื่อลดต้นทุนการผลิต ทำให้ในปี 2548 สหกรณ์ฯ สามารถดำเนินการเลี้ยงตัวเองได้
การดำเนินงานขั้นต่อไป
ใน ช่วงปี 2547 จนถึงต้นปี 2548 ราคาน้ำมันปาล์มดิบเฉลี่ยยังค่อนข้างสูงถึงประมาณ 16-20 บาทต่อกิโลกรัม ถ้านำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลจะต้องเพิ่มค่าแปรรูปอีกประมาณ 7-8 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่าราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในช่วงเวลาเดียวกัน จึงทำให้สหกรณ์ฯ ต้องฝากน้ำมันปาล์มดิบที่สกัดได้ทั้งหมดที่โรงงานของชุมชนสหกรณ์สวนปาล์มฯ เพื่อขายให้โรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เพื่อการบริโภค เมื่อในอนาคตราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลสูงขึ้นจนถึงระดับ 22 บาทต่อลิตรขึ้นไป มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งปัจจุบันมีอุปกรณ์การผลิตไบโอดีเซลขนาด 1,000 ลิตร จะทดลองนำตัวอย่างน้ำมันปาล์มดิบของสหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด มาผลิตไบโอดีเซลและวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตและคุณภาพน้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิต ได้ รวมทั้งทดลองการผลิตไบโอดีเซลจากไขสบู่ที่เกิดจากกระบวนการลดกรดด้วย จากนั้นจะได้ร่วมหารือกับสหกรณ์ฯ เพื่อสนองโครงการจัดสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซลขึ้น เพื่อดำเนินการไปในลักษณะเชิงพาณิชย์โดยมีกระบวนการที่ครบวงจร อันประกอบด้วย ถังลดกรด ถังปฏิกิริยาผลิตไบโอดีเซล ถึงแยกกลีเซอรอล ถังปฏิกิริยาผลิตไบโอดีเซลจากกรดไขมันและสบู่ และหอกลั่นกลีเซอรอลให้บริสุทธิ์ รวมทั้งระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งการผลิตแบบครบวงจรนี้จะทำให้ผลิตไบโอดีเซลที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ รวมทั้งแปรรูปผลิตผลพลอยได้ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และสามารถจำหน่ายได้ทั้งหมด