- หน้าแรก
- เอกสารเผยแพร่
- บทความที่น่าสนใจ
- ปุจฉา วิสัชนา : การบำบัดน้ำเสียตามพระราชดำริ
ปุจฉา วิสัชนา : การบำบัดน้ำเสียตามพระราชดำริ
ในแนวทางการบริหารของมูลนิธิชัยพัฒนา
เอกชัย อัครธีรนุภาพ
สภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งสำหรับการดำรงชีวิตของประชาชนทุกคน หากสภาพแวดล้อมที่ใกล้ชิดกับประชาชนไม่มีข้อบกพร่องย่อมส่งผลดีมาสู่ประชาชน ทำให้ประชาชนมีสุขอนามัยที่สมบูรณ์ มีกำลังกายและกำลังใจในการพัฒนาศักยภาพของตน ซึ่งส่งผลให้มีการพัฒนาทางสังคม และเศรษฐกิจของประเทศชาติต่อไป
แต่ในสภาวะปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมืองที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ประชาชนสนใจแต่ตัวเอง โดยนึกถึงสภาพแวดล้อมที่อยู่ข้างตัว ทำให้สภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวคนกลับมาสร้างผลร้ายแก่คนเอง ดังจะเห็นได้จากปัญหาน้ำเน่าเสียที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ไม่สามารถนำมาอุปโภค บริโภคได้
กระนั้นก็ตาม ด้วยพระเมตตาที่ทรงห่วงใยในความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนในแผ่นดินที่มีสภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย โดยมูลนิธิชัยพัฒนาได้สนองพระราชดำริ ในการบำบัดน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำดี ซึ่งทำให้ประชาชนชาวไทยดำรงชีพอย่างมีความสุขโดยปราศจากปัญหาสภาพแวดล้อม
เมื่อมูลนิธิชัยพัฒนาได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียตามแนวพระราชดำริ ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีคำถามและข้อสงสัยเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำเสียดังนั้น จึงได้ประมวลคำถามและข้อสงสัยที่มีการซักถามบ่อยครั้งได้พังนี้
ปุจฉาที่ 1 การดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะขอรับการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย จะต้องดำเนินการอย่างไร
วิสัชนา หน่วยงานต่าง ๆ ที่จะขอให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการแก้ไขปัญหาสภาวะน้ำเสียสามารถส่งรายละเอียดของปัญหาน้ำเสียที่เกิดขึ้นว่ามีสภาพเป็นอย่างไร อยู่บริเวณใด น้ำเสียที่เกิดขึ้นนั้นเป็นน้ำเสียที่อยู่ในบ่อ คู คลอง หรือแม่น้ำ มีความกว้าง ความยาว ความลึก เท่าไหร่ หากจะให้เกิดความชัดเจน ควรส่งภาพถ่ายมาประกอบให้เห็นถึงสภาพของปัญหาก็จะเป็นการดี
เมื่อสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้รับเรื่องจากหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว จะสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากหน่วยงาน เพื่อให้เกิดความกระจ่างยิ่งขึ้น หลังจากนั้นสำนักงานฯ จะประสานความร่วมมือกับกรมชลประทานเพื่อสำรวจสภาพพื้นที่เกิดปัญหา เพื่อนำมาจัดทำแผนงานในการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียที่เกิดขึ้นต่อไป
ปุจฉาที่ 2 หน่ายงานใดบ้างที่สามารถขอรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาสภาพน้ำเน่าเสีย
วิสัชนา หน่วยงานที่จะขอรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในระยะแรกจะเน้นสถานที่สาธารณประโยชน์ เช่น หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงวัด โรงเรียน และอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับภาคเอกชนที่จะต้องขอรับการแก้ไขปัญหาก็อาจจะกระทำได้เฉพาะกรณีเป็นราย ๆ ไป แต่ต้องเป็นกรณีที่สภาพปัญหาน้ำเน่าเสียที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบแหล่งน้ำของชุมชนอย่างรุนแรง หรือเป็นแหล่งน้ำสาธารณที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น บ่อน้ำในหมู่บ้านจัดสรร หรือคูน้ำในชุมชนแออัด
ปุจฉาที่ 3 หากสำรวจสภาพพื้นที่ แล้วพบว่าเกิดปัญหาน้ำเน่าเสียจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร
วิสัชนา การดำเนินงานจัดทำแผนแก้ไขปัญหาตามแนวพระราชดำริ ที่มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับกรมชลประทาน นำมาดำเนินการ มีด้วยกัน 3 ลักษณะ คือ
การใช้เครื่องกังหันน้ำชัยพัฒนา
เครื่องกังหันน้ำชัยพัฒนา หรือเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนแบบทุ่นลอย (Mode RX - 2) นั้น มีคุณสมบัติในการถ่ายเทออกซิเจนเข้าไปในน้ำ โดยใช้หลักของกังหันวิดน้ำ วิดตักน้ำขึ้นไปบนผิดน้ำ แล้วปล่อยให้ตกลงไปยังผิวน้ำตามเดิม
พื้นที่ที่เหมาะสมในการติดตั้งกังหันน้ำชัยพัฒนา คือ แหล่งน้ำธรรมชาติที่ค่อนข้างกว้าง เช่น สระน้ำ หนองน้ำ คลอง บึง ลำห้วย ฯลฯ ที่มีความลึกมากกว่า 1 เมตร และมีความกว้างมากกว่า 3 เมตร
การใช้เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ
เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ (Mode RX 5C) นี้ จะใช้วิธีการดูดน้ำเสียที่อยู่กันบ่อเข้าผสมกับอากาศที่ถูกอัดเข้าไปเพื่อทำให้น้ำไหลหมุนเวียน น้ำเสียจะผสมกับออกซิเจน ซึ่งทำให้น้ำมีคุณภาพดีขึ้น และประสิทธิภาพในการเติมออกซิเจนเข้าไปในน้ำเสียนั้น เทียบเท่ากับการใช้เครื่องกังหันน้ำชัยพัฒนา เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ RX 5C มีขนาดเล็กกะทัดรัดสามารถนำไปใช้ในพื้นที่ที่ไม่สามารถติดตั้งกังหันน้ำชัยพัฒนาได้หรือนำไปใช้งานร่วมกับกังหันน้ำชัยพัฒนา
การใช้พืชน้ำในการบำบัดน้ำเสีย
การใช้พืชน้ำในการบำบัดน้ำเสียนี้ มีวิธีการดำเนินการ 2 แบบ แบบที่หนึ่ง ใส่พืชลอยน้ำลงไปในบ่อน้ำเสีย และแบบที่สอง ทำบ่อปรับปรุงคุณภาพน้ำข้างแหล่งน้ำที่เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย ในบ่อ ปรับปรุงคุณภาพน้ำ อาจจะทำให้พืชน้ำต่าง ๆ เช่น ผักตบชวา ธูปฤาษี พุทธรักษา กก สาหร่ายหางกระจอก ซึ่งขึ้นกับท้องถิ่นนั้น ๆ ว่ามีพืชชนิดใดมากก็นำพืชนั้นมาใช้
หลังจากนั้น ใช้วิธีการเวียนน้ำ โดยสูบน้ำจากบ่อที่เกิดปัญหาน้ำเสียเข้าไปยังบ่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ แล้วให้น้ำเสียไหลเวียนผ่านระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยไม่ใช้พืชน้ำ รากของพืชน้ำจะดูดเอาแร่ธาตุ สารอาหาร สารอินทรีย์ที่ปนมากับน้ำ ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดน้ำเสีย ปรับเป็นน้ำใสและไหลกลับคืนเข้าสู่บ่อน้ำที่เป็นปัญหาเป็นการทำให้น้ำดีเข้าไปขับไล่น้ำเสียนั่นเอง พื้นที่ที่เหมาะสมในการใช้ระบบบำบัดด้วยวิธีนี้ คือ บ่อน้ำ หนอง คู คลอง ต่าง ๆ ที่มีบริเวณพื้นที่ด้านข้างว่างเพียงพอที่จะจัดทำบ่อปรับปรุงคุณภาพน้ำได้
การบำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลมากที่สุด ควรใช้เครื่องเติมอากาศผสมผสานกับการใช้พืชน้ำบำบัด เช่น ใช้เครื่องกังหันน้ำชัยพัฒนาร่วมกับพืชน้ำ หรือ ใช้เครื่องกลเติมอากาศแบบ RX 5C ร่วมกับพืชน้ำ ซึ่งทำให้ปัญหาน้ำเสียกลับกลายเป็นน้ำดีได้ในเวลารวดเร็ว
ปุจฉาที่ 4 ในดารติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย จะต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างไรบาง
วิสัชนา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย มีดังนี้
กังหันน้ำชัยพัฒนา
วัสดุที่ใช้ในการสร้างกังหันน้ำชัยพัฒนา มี 2 ชนิด คือ สแตนเลส และเหล็กเหนียวธรรมดา การจัดสร้างกังหันน้ำชัยพัฒนาแบบสแตนเลสนั้น จะมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 350,000 บาท ส่วนการจัดสร้าง กังหันน้ำชัยพัฒนาแบบเหล็กเหนียวธรรมดานั้น จะมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 140,000 บาท
เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ RX 5C
เครื่องเติมอากาศแบบอัดอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ RX 5C นี้ ใช้เหล็กเป็นวัสดุในการสร้างเพียงประเภทเดียว มีค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างทั้งสิ้น 35,000 บาท
นอกจากนี้ อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เนื่องจากมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องทำให้เสียค่าใช้เพิ่มขึ้น เช่น สภาพบ่อที่จะต้องใช้สายไฟฟ้ายาว หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้ง สถานที่ติดตั้งที่จะต้องมีค่าขนส่งต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
การบำบัดน้ำเสียโดยใช้พืชบำบัด
การแก้ไขปัญหาน้ำเสียโดยใช้พืชบำบัดนั้น หน่วยงานที่ขอรับความช่วยเหลือสามารถดำเนินการเองได้ โดยมูลนิธิชัยพัฒนาจะส่งแบบรายละเอียดของวิธีการทำระบบบำบัดโดยใช้พืชน้ำให้หากเกิดความไม่เข้าใจสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา
ปุจฉาที่ 5 หลังจากการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียแล้วจะต้องมีค่าดำเนินการรักษาหรือไม่
วิสัชนา เมื่อได้ติดตั้งเครื่องกังหันน้ำชัยพัฒนาแล้ว จะมีค่าใช้จ่ายในส่วนของการบำรุงรักษาเครื่องประมาณ 10,000 บาท/เครื่อง/ปี ส่วนเครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ RX 5C นั้น จะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ประมาณ 5,000 บาท/เครื่อง/ปี โดยกรมชลประทานจะเป็นผู้ประสานงานในการบำรุงรักษาเครื่อง
ส่วนการใช้พืชน้ำ หน่วยงานที่ขอความช่วยเหลือจะต้องเป็นผู้ดูแลบ่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการตกแต่งพืชที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสียด้วย เพื่อให้บริเวณพื้นที่ที่ปรับปรุงคุณภาพน้ำมีทัศนียภาพที่ชวนมอง
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาน้ำเสียตามแนวพระราชดำรินี้ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว แต่สิ่งที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการไม่ก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกคน และหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการอนุรักษ์และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง มูลนิธิชัยพัฒนาเป็นเพียงหน่วยงานที่เสริมและสนับสนุน โดยดำเนินการให้เห็นเป็นตัวอย่างเท่านั้น ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้ไม่เกิดปัญหา คือ ประชาชนจะต้องดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้คงอยู่ในสภาพดี มีระเบียบวินัยในการคำนึงถึงสภาพแวดล้อม เพื่อให้เกิดการคงอยู่ที่ยั่งยืนต่อไป
* ผู้เขียนขอขอบคุณ
- อาจารย์บรรจง วรรธนะพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยพัฒนาเครื่องจักรกลสำนักงาน มูลนิธิชัยพัฒนา
- คุณสุขเกษม เจริญจันทร์ วิศวกร 9 วช (วิศวกรรมเครื่องกล) กรมชลประทาน
- คุณสุนันทา เพ็ญสุต นักวิทยาศาสตร์ 7 กลุ่มงานวัชพืช กรมชลประทานคุณสิริพันธ์ กาญจนเรขา เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 6ว. สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำหรับคำแนะนำในการเขียน และข้อมูลบางส่วน