- หน้าแรก
- เอกสารเผยแพร่
- บทความที่น่าสนใจ
- วันดาว แหล่งกสิกรรมตามแนวทฤษฎีใหม่
วันดาว แหล่งกสิกรรมตามแนวทฤษฎีใหม่
สรรศุภร วิชพัน์ธุ์
เพลงเขมรปากท่อ เหล่ากอไทยทรงดำ วัฒนธรรมกะเหรี่ยง เสียงน้ำตกไทยประจัน
แหล่งพันธุ์ไม้ผล ถิ่นคนน้ำใจงาม มากฟาร์มสุกร พระนอนถ้ำทะลุ
ข้อความดังกล่าวข้างต้นนี้ เป็นการนำจุดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี มารวมไว้เป็นคำขวัญประจำอำเภอ ที่ชี้ให้เห็นถึงสิ่งสำคัญต่าง ๆ ที่มีอยู่นำมาเผยแพร่ออกไปและยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้ไปกว่ากัน ก็คือ โครงการพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลวันดาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี หากยังจำกันได้ เรื่องราวของโครงการพัฒนาพื้นที่มูลนิธิชัยพัฒนาตามแนวพระราชดำรินี้ได้เคยนำมาลงวารสารมูลนิธิชัยพัฒนาแล้ว ในปี 2544 โครงการดังกล่าวถือว่าเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ตามพระราชดำริ ที่มีความสำคัญอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยเน้นประโยชน์สูงสุดที่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพทางการเกษตร และใช้เป็นแบบอย่างของการดำรงชีวิตตามแนวพระราชปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง โครงการพัฒนาดังกล่าวนี้ มีชื่อว่า โครงการแปลงสาธิตการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ ทฤษฎีใหม่ ตำบลวันดาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
สืบเนื่องมาจาก นางสาวจินดา และนางสาวพรรณพิมล คชะสุต ได้มีหนังสือแจ้งมายังมูลนิธิชัยพัฒนาว่ามีความประสงค์จะบริจาคที่ดินจำนวน 15 0 8 ไร่ ริมถนนสมุทรสงคราม ปากท่อ หมู่ที่ 1 ตำบลวันดาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนาเนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานบริหารมูลนิธิชัยพัฒนาพระราชทานพระราชานุมัติให้รับที่ดินแปลงนี้ไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา และพระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาที่ดินผืนนี้เป็นแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริ ทฤษฎีใหม่ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงใช้เป็นแหล่งศึกษาดูงาน สำหรับนำไปเป็นแบบอย่างในการปรับปรุงการประกอบอาชีพการเกษตรของตนเอง
วันวานของวันดาว
โครงการนี้ ได้รับความร่วมมือจากศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและวิจัยการผลิตราชบุรี กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลรับผิดชอบ ดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาการเกษตร ทฤษฎีใหม่ ในลักษณะของการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างสูงสุดในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำและที่ดิน ร่วมกับแนวทางการพัฒนา การเกษตรผสมผสาน เพื่อจัดทำเป็นแปลงสาธิตทางการเกษตรรูปแบบต่าง ๆ ที่ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และอาชีพของราษฎรที่อาศัยทำมาหากินอยู่ในบริเวณนั้น จะได้เป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรและประชาชนที่สนใจ สามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้และนำมาใช้ในการประกอบอาชีพของตนได้
การดำเนินงานของโครงการ ประกอบไปด้วยแผนงานหลัก 2 แผนงาน คือ
- แผนงานแรก คือ แผนงานศึกษา ทดสอบ และพัฒนาพืชเศรษฐกิจ และระบบการปลูกพืช ระบบการทำฟาร์มซึ่งมีกิจกรรมที่หลากหลายน่าสนใจ ประกอบด้วย กิจกรรมปลูกข้าวและพืชไร่ กิจกรรมเกษตรผสมผสานบนร่องสวนและบนคันดิน กิจกรรมปลูกไม้หอม พืชสมุนไพร และดอกไม้ กิจกรรมปลูกพืชผักสวนครัว กิจกรรมเพาะเลี้ยงเห็ด กิจกรรมปลูกหญ้าแฝก กิจกรรมการเลี้ยงสัตว์บนบ่อปลา กิจกรรมเลี้ยงปลา และกิจกรรมผลิตปุ๋ยหมัก
- แผนงานที่สอง คือ แผนการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นการจัดการฝึกอบรมดูงานให้แก่เกษตรกรที่มีความสนใจในกิจกรรมด้านต่าง ๆ ของโครงการ เข้ามาศึกษาดูงานและลงมือปฏิบัติในพื้นที่โครงการ และถ้าเกษตรกรมีความสนใจในกิจกรรมด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากกิจกรรมที่โครงการมีอยู่ ทางโครงการสามารถจัดให้ไปศึกษาดูงานตามโครงการพระราชดำริ หรือ โครงการอื่น ๆ ได้
การดำเนินงานในช่วงแรก เป็นการดำเนินการปรับโครงสร้างพื้นฐานและจัดเตรียมแปลง ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนาได้รับความร่วมมือด้วยดีจากกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ดูแลโครงการ ทำให้โครงการมีความก้าวหน้าประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
โฉมใหม่ของวันดาว
สำหรับในปัจจุบัน สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้ปรับรูปแบบการบริหารจัดการโครงการขึ้นใหม่ โดยเน้นการส่งเสริม และการขยายผลงานของโครงการออกสู่ประชาชน ในลักษณะการร่วมงานกันทำระหว่างเกษตรกรและหน่วยงานของรัฐ โดยมีมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นองค์กรกลางในการประงานงานและสนับสนุน โดยเน้นการนำแนวคิดทฤษฎีใหม่และการทำการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริ ตามต้นแบบที่ได้ดำเนินการไว้แล้วนั้น จัดทำเป็นแปลงตัวอย่างให้ราษฎรนำไปปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมตามสภาพภูมิสังคม
ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนาเห็นว่า การส่งเสริมและขยายผลให้กว้างขวางออกไปนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทุก ๆ ส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานจากส่วนกลาง หรือจากท้องถิ่น รวมถึงความร่วมมือจากตัวเกษตรกรเอง โดยการให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการมากขึ้น ให้เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่เป้าหมายภายใต้แผนงานเดียวกัน และช่วยกันกำกับดูแลและดำเนินงาน รวมทั้งติดตามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
ที่สำคัญ โครงการยังได้รับความร่วมมือจากราษฎร ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนและเกษตรกรดีเด่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณรอบโครงการ และมีความรู้ความสามารถเฉพาะทางในด้านการเกษตรร่วมเป็นคณะทำงานของโครงการ จำนวน 4 ราย มาช่วยกันระดมความคิด นำความรู้ทางด้านการเกษตร โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการ โดยแต่ละรายได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบกิจกรรมที่แตกต่างกันตามความถนัดของตน คือ นายพิชิต ทับทิม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 ตำบลดอนทราย รับผิดชอบในเรื่องของนาข้าวทั้งหมด นายพัฒนะ สว่างเกตุ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลทุ่งหลวง ดูแลเรื่องผลไม้ ส่วน นายวัฒนะ กลิ่นอำไพ นายก อบต. วัดยางงาม รับผิดชอบในกิจกรรมของพืชผักต่าง ๆ และนายสมยศ องอาจ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 15 ตำบลทุ่งหลวง รับผิดชอบในกิจกรรมปุ๋ย
แหล่งกสิกรรมผสมผสาน
แนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไปของโครงการ จะดำเนินการภายใต้กรอบแนวทางใหม่ที่กำหนดไว้ ดังนี้
- เป็นแหล่งศึกษา ทดลอง วิจัยและพัฒนาตามแนวพระราชดำริ โดยส่วนราชการร่วมกับราษฎร กำหนดแนวทางในการดำเนินงานร่วมกัน
- เป็นสถานที่สาธิตทางการเกษตรตามแนวพระราชาดำริในด้านต่าง ๆ อาทิ พืชไร่ พืชสวน การทำนา การเลี้ยงสัตว์ และการประมง เพื่อเป็นต้นแบบ หรือ ดัดแปลงให้เหมาะสมในการนำไปใช้ในพื้นที่ของตนได้ โดยได้รับความร่วมมือจากราษฎรในการดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่โครงการ
- เป็นแหล่งผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งสามารถแจกจ่าย และจำหน่าย ผลผลิตให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจโดยวางแผนที่จะดำเนินการร่วมกับอำเภอ ในการรวบรวมผลผลิตที่ได้จากโครงการมาแจกจ่าย หรือจำหน่ายในบริเวณพื้นที่หน้าโครงการ
- เป็นศูนย์ฝึกอบรม และดูงาน ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป โดยเน้นให้เกษตรกรที่มีประสบการณ์เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน จัดการเรียนการสอน และให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรตามสภาพภูมิสังคมของท้องถิ่นนั้น ๆ
การมีส่วนร่วมของทุก ๆ หน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ของราษฎรในการพัฒนาพื้นที่โครงการนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงพลังแห่งการพัฒนา เพี่อให้โครงการแปลงสาธิตการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ ทฤษฎีใหม่ อำเภอปากท่อ ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ สามารถดำเนินงานไปได้ตามเป้าหมาย ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและทำให้ประชาชนและทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความร่มเย็นเป็นสุขอย่างแท้จริง
ดังพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้า ที่ทรงให้ความสำคัญในด้านการพัฒนาการเกษตร ว่า
...การอาชีพเพาะปลูกนี้มีความสำคัญมาก เพราะการเพาะปลูกนี้เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตมนุษย์ ถ้าเราไม่มีการเพาะปลูกก็จะไม่มีวัตถุดิบจะมาเป็นอาหารหรือเป็นเครื่องนุ่งห่ม หรือเป็นสิ่งก่อสร้าง ฉะนั้น ต้องทำการกสิกรรม...