วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน 2560 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงาน การให้ความช่วยเหลือโรงเรียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมูลนิธิชัยพัฒนา ประกอบด้วยโรงเรียนวัดธรรมจริยา โรงเรียนวังน้อย (พนมยงค์วิทยา) และโรงเรียนสอนดี (ประชารัฐอนุสรณ์)
สืบเนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปีพุทธศักราช 2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชกระแสให้ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นการเร่งด่วน ทั้งในเรื่องเฉพาะหน้าตลอดจนการช่วยเหลือฟื้นฟูหลังน้ำลด เพื่อให้ราษฎร ได้กลับมาใช้ชีวิตโดยปกติอย่างเร็วที่สุด ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริ ด้วยการลงพื้นที่ตรวจสอบและ ให้ความช่วยเหลือ โดยในส่วนพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากจะให้ความช่วยเหลือราษฎรตามแนวพระราชดำริแล้ว ยังได้ให้ความช่วยเหลือและพัฒนาโรงเรียน 3 โรงเรียน ที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงานในวันนี้ ได้แก่
โรงเรียนวัดธรรมจริยา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา “โรงเรียนต้นแบบ ของมูลนิธิชัยพัฒนา ด้านการประหยัดพลังงานและการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในรูปแบบของ บวร” โดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา และ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดย บริษัท เชฟรอนฯ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน เพื่อใช้ในการพัฒนาฟื้นฟูโรงเรียน และเพื่อสนับสนุนให้มูลนิธิชัยพัฒนา จัดทำโครงการโรงเรียนต้นแบบเพื่อให้ความรู้ในเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน การผลิต และใช้พลังงานทดแทน โดยได้ดำเนินการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์และดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านการอนุรักษ์พลังงานให้แก่นักเรียน รวมทั้งปรับปรุงห้องสมุดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามห้องสมุดแห่งนี้ว่าห้องสมุด “ชัยพัฒน์จริยา”
มูลนิธิชัยพัฒนา ยังได้สนับสนุนงบประมาณปรับปรุงภูมิทัศน์ ก่อสร้างโรงจอดรถ และปรับปรุงพื้นที่ด้านหน้าโรงเรียนให้เป็นแปลงเกษตร เพื่อให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมทางการเกษตร เช่น การปลูกข้าว เนื่องจากโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ตำบลข้าวงาม ที่เป็นแหล่งปลูกข้าวในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันการปลูกข้าวลดจำนวนลง จึงถือเป็นโอกาสอันดีในการส่งเสริมการปลูกข้าวภายในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนและผู้ปกครองได้เรียนรู้การปลูกข้าว โดยใช้วิธีธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี อีกทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและโรงเรียนในการทำนาแบบดั้งเดิมโดย ซึ่งต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามชื่อสวนเกษตรผสมผสานของโรงเรียนวัดธรรมจริยาว่า “สวนชัยพัฒนพฤกษ์”
นอกจากนี้ โรงเรียนฯ ยังได้รับการสนับสนุนจากโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของมูลนิธิชัยพัฒนา ในการแก้ปัญหาขยะและน้ำเสีย จากการสำรวจพื้นที่ ในเบื้องต้นพบว่า โรงเรียนฯ ประสบปัญหาด้านการจัดการขยะและน้ำเสียจากโรงอาหาร ซึ่งโรงเรียนฯ ได้ใช้วิธีการเผาขยะกลางแจ้งส่งผลให้เกิดกลิ่น ควัน และมลพิษในอากาศตามมา จึงได้ให้การสนับสนุนด้านวิชาการ ด้วยการออกแบบการจัดการน้ำเสียจากโรงอาหาร โดยนำระบบการบำบัดน้ำเสีย ด้วยวิธีธรรมชาติที่ใช้ในโครงการฯ มาประยุกต์ใช้ในโรงเรียนแห่งนี้ คือ การติดตั้งตะแกรงดักเศษอาหารและเศษผักออกจากน้ำเสีย การติดตั้งถังดักไขมันเพื่อดักคราบที่ลอยปกคลุมผิวน้ำออก ติดตั้งบ่อเกรอะ(septic tank)
เพื่อบำบัดน้ำเสียด้วยกระบวนการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน การจัดสร้างระบบบำบัดน้ำเสียแบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม และสุดท้ายจนสามารถนำน้ำเสียที่ผ่านกระบวนการบำบัดไปรดน้ำต้นไม้และแปลงพืชในโรงเรียนหรือปล่อยลงสู่ลำรางสาธารณะต่อไป ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดนี้ มูลนิธิชัยพัฒนา ได้สนับสนุนให้โรงเรียนฯ ยึดหลัก “บวร” หรือ “บ้าน วัด โรงเรียน” ในการพัฒนาโรงเรียนฯ ให้เป็นโรงเรียนต้นแบบของชุมชนแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูล โรงเรียนวังน้อย (พนมยงค์วิทยา) อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา “โรงเรียนต้นแบบของมูลนิธิชัยพัฒนา ด้านสายวิชาชีพช่าง” หลังจากเกิดอุทกภัยในปีพุทธศักราช 2554 มูลนิธิชัยพัฒนา ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยได้จัดการฝึกอบรมด้านอาชีพช่างยนต์แก่ผู้ประสบภัยและนักเรียนในชุมชน ด้วยการให้ความรู้ในการซ่อมแซมเครื่องยนต์และอุปกรณ์การเกษตรที่เสียหายจากน้ำท่วม รวมถึงทักษะในการดูแลเครื่องยนต์ให้ปลอดภัยจากน้ำท่วม ซึ่งผู้ผ่านการอบรมสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้
ต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุมัติให้ โรงเรียนวังน้อย (พนมยงค์วิทยา) เป็นโรงเรียนต้นแบบด้านสายวิชาชีพช่าง เพื่อให้นักเรียนมีทางเลือก ในการประกอบอาชีพหลังจบการศึกษา เช่น งานช่างคอมพิวเตอร์ และการบัญชี ในกรณีที่นักเรียน ไม่สามารถสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยสายสามัญได้ อีกทั้งเป็นการเสริมรายได้ให้กับนักเรียนและครอบครัว และสั่งสมประสบการณ์ในการทำงานจากการปฏิบัติจริง ที่ได้รับจากการฝึกงานในสถานประกอบการบริเวณนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีวิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการอยุธยา และวิทยาลัยเทคนิคอุตสาหกรรมยานยนต์ ดำเนินการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรสายอาชีพ ให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนวังน้อยฯ พร้อมทั้งได้พระราชทานงบประมาณในการ ต่อเติมและปรับปรุงโรงฝึกอาชีพโรงเรียนวังน้อยฯ เพื่อเป็นสถานที่ฝึกอบรมด้านวิชาชีพตลอดจนใช้ประโยชน์ด้านการศึกษาอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนและครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น นักเรียนที่จบการศึกษาได้เข้าศึกษาต่อในสายวิชาชีพ หรือบางรายมีรายได้จากการประกอบอาชีพด้านสายวิชาชีพช่าง ส่งผลให้ปัจจุบันจำนวนนักเรียนที่สมัครเข้าเรียนหลักสูตรสายวิชาชีพเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 67 หลังจากเริ่มเปิดโครงการ
นอกจากนี้ยังมีการคัดเลือกนักเรียนจากสายวิชาชีพให้ได้รับโอกาสเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและวัฒนธรรมระยะสั้น ระหว่างสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาและสาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยโครงการดังกล่าว ได้นำนักเรียนเดินทางไปแลกเปลี่ยน ณ โรงเรียน North light สาธารณรัฐสิงคโปร์ จากการที่นักเรียนได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์ ทำให้นักเรียนมีความกล้าแสดงออก มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ในสิ่งใหม่มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้พัฒนาความรู้และทักษะในด้านต่างๆ ซึ่งประสบการณ์และการเรียนรู้ที่ได้รับ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนได้ต่อไป
โรงเรียนสอนดี (ประชารัฐอนุสรณ์) อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มูลนิธิชัยพัฒนา ได้ให้ความช่วยเหลือด้านการจัดหาสื่อการเรียนการสอน การจัดทำแปลงเกษตรอาหารกลางวัน และปรับปรุงซ่อมแซมอาคารภายในโรงเรียน รวมถึงการสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อเป็นสถานที่ดูแลและปูพื้นฐานทักษะวิชาความรู้ให้แก่เด็กในชุมชนก่อนเข้าศึกษาต่อในระดับอนุบาล โดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ให้การสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และบริษัทในเครือแซง-โกเบ็ง ในประเทศไทย ให้การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ตกแต่งภายในศูนย์เด็กเล็ก ซึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ว่า “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสอนดีชัยพัฒน์”
ทั้งนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่เด็กนักเรียน อาทิ การสอนทำการจัดทำ E-Book และ Big Book เพื่อส่งเสริมนิสัยการรักการอ่าน ศิลปะปั้นดินเล่าเรื่อง ฯลฯ นอกจากนี้ กลุ่มศิษย์เก่าจิตรลดาอาสา ได้จัดกิจกรรมสันทนาการร่วมกับเด็กนักเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กได้ผ่อนคลาย กล้าคิด กล้าแสดงออก รวมถึงการสอนการทำอาหารอย่างง่ายเพื่อให้เด็กนักเรียนมีทักษะและสามารถนำไปใช้หารายได้ระหว่างเรียนได้