วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2560 เวลา 09.17 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังส่วนโรงงาน 6 สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ทรงเปิดอาคารโรงงานจัดสร้างและซ่อมบำรุงเครื่องกลเติมอากาศของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่จัดสร้างขึ้นภายในพื้นที่ของกรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดสร้างและซ่อมบำรุงรักษาเครื่องกลเติมอากาศให้มีศักยภาพในการผลิตมากยิ่งขึ้น อีกทั้งใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมให้ความรู้แก่หน่วยงานต่างๆ ที่มีความสนใจศึกษารูปแบบการผลิตเครื่องกลเติมอากาศ รวมถึงความรู้ในการบำรุงรักษาและการซ่อมแซมเครื่องกลเติมอากาศหลังการติดตั้ง
ในการนี้ ทอดพระเนตร "นิทรรศการ 29 ปี แห่งการพัฒนาเครื่องกลเติมอากาศ" ทั้งนี้ เมื่อปีพุทธศักราช 2531 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานรูปแบบเครื่องกลเติมอากาศ ให้กรมชลประทานศึกษา ทดลอง และผลิต เพื่อใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียให้มีคุณภาพดีขึ้น ด้วยมีพระราชประสงค์ให้เครื่องกลเติมอากาศ เป็นเครื่องต้นแบบที่หน่วยงานหรือประชาชน สามารถผลิตและใช้เองได้ภายในประเทศ ในรูปแบบ "ไทยทำ ไทยใช้" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ มูลนิธิชัยพัฒนา สนับสนุนงบประมาณเพื่อการศึกษาและวิจัยสิ่งประดิษฐ์นี้ ซึ่งรู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อ "กังหันน้ำชัยพัฒนา"
กรมชลประทาน ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริ โดยศึกษาทดลองและวิจัย จนได้เครื่องกลเติมอากาศ จำนวน 8 รูปแบบ อาทิ กังหันน้ำชัยพัฒนา หรือ เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย RX-2 ที่มีการพัฒนาประสิทธิภาพ และรูปแบบจนเป็นที่ประจักษ์ในประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งปัจจุบันกังหันน้ำชัยพัฒนา ได้ถูกนำไปติดตั้งตามสถานที่สาธารณประโยชน์ต่างๆ ทั่วประเทศ กว่า 260 เครื่อง นอกจากนี้ ในต่างประเทศก็มีความสนใจนำกังหันน้ำชัยพัฒนา ไปติดตั้งเช่นกัน เช่น ที่สวนสาธารณะโวลูเว แซงต์-ปิแอร์ ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม สระมุจลินท์ วัดไทยพุทธยา อินเดีย วัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน และสถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นต้น
ต่อมา ในปีพุทธศักราช 2533 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงคิดค้นประดิษฐ์เครื่องบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติม โดยมีพระราชดำริให้จัดสร้างเครื่องกลเติมอากาศแบบ RX-5C และพระราชทานภาพลายฝีพระหัตถ์ แก่กรมชลประทาน เพื่อจัดสร้างเครื่องต้นแบบ เพื่อใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำที่ไม่สามารถติดตั้งกังหันน้ำชัยพัฒนาได้ หรือนำไปใช้ควบคู่กับกังหันน้ำชัยพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียมากยิ่งขึ้น
ในโอกาสนี้ ทรงเปิดอาคารสำนักงานโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นอาคารสูง 2 ชั้น สำหรับเป็นที่ทำงานโครงการฯ และเป็นสถานที่ฝึกอบรมดูงาน โดยมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิชัยพัฒนาจำนวน 8 คน และช่างในส่วนปฏิบัติการ 17 คน