- หน้าแรก
- เอกสารเผยแพร่
- บทความที่น่าสนใจ
- ปลูกพืชไม่ใช้ดิน...ทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ
ปลูกพืชไม่ใช้ดิน...ทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ
มารู้จักการปลูกพืชไม่ใช้ดิน (Hydroponics)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนานำที่ดินที่ว่างเปล่าและยังไม่มีการดำเนินงานใด มาทดลองปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน (Hydroponics) และขยายผลไปสู่ราษฎร เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการใช้ประโยชน์จากที่ดิน
การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินแตกต่างกับพืชที่ปลูกบนดิน คือ การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินสามารถควบคุมระบบการให้น้ำแก่พืชได้ ส่วนพืชที่ปลูกบนดินไม่สามารถควบคุมระบบน้ำที่ให้พืชได้ การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน แบ่งได้เป็น 3 ประเภท
{ การปลูกพืชในสารละลาย ซึ่งแบ่งได้อีก 3 ชนิด ดังนี้ ระบบเอ็นเอฟที (Nutrient Film Technique ; NFT) คือ การให้สารละลายไหลผ่านรากพืชเป็นแผ่นบางๆ ระบบดีเอฟที (Deep Floating Technique; DFT) เป็นระบบที่ปลูกพืชโดยรากแช่อยู่ในสารละลายลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร และระบบดีอาร์เอฟ (Dynamics Root Floating ;DRF) เป็นระบบที่รากส่วนหนึ่งแช่อยู่ในน้ำ และอีกส่วนหนึ่งอยู่ในอากาศ
{ การปลูกด้วยระบบแอโรโพนิคส์ (Aeroponics) เป็นระบบรากพืชอิ่มตัวอย่างต่อเนื่องด้วยการพ่นสารละลายธาตุอาหารพืชเป็นระยะ คล้ายการพ่นหมอก ระบบนี้รากพืชไม่ได้แช่อยู่ในน้ำ
{ ระบบปลูกในวัสดุสำหรับปลูก (Substrate Culture) เป็นระบบที่ปลูกในวัสดุปลูกอื่นๆ ที่ไม่ใช้ดิน เช่น กากมะพร้าวสับ ขุยมะพร้าว
นี่คือ ความหมายอย่างคร่าวๆ เกี่ยวกับการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน และระบบนี้เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับพื้นที่ที่ไม่สามารถปลูกพืชได้ และมีน้ำจืดอย่างจำกัด
ประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้สนองพระราชดำริ โดยมีแผนงานที่จะดำเนินโครงการในที่ดินของมูลนิธิฯ ที่จังหวัดปราจีนบุรี แต่ก่อนที่จะเริ่มทำโครงการที่ปราจีนบุรี สำนักงานมูลนิธิฯ ได้ไปเริ่มที่โรงเรียนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย ตำบลเกาะส่าหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เป็นแห่งแรก
โรงเรียนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ยเป็นโรงเรียนเล็กๆ มีนักเรียนอยู่ 36 คน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ป.6 ส่วนเกาะนั้นเป็นเกาะขนาดเล็ก มีประชากรประมาณ 50-60 ครัวเรือน ที่เกาะแห่งนี้ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้สนับสนุนงบประมาณที่บริษัท เอไอเอ จำกัด (มหาชน) ทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อใช้ในการปรับปรุงก่อสร้างห้องสมุดที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิ และได้พบว่า โรงเรียนมีพื้นที่จำกัดมากจึงไม่สามารถปลูกผักเป็นอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนได้ จึงคิดกันว่า ระบบการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับโรงเรียนแห่งนี้
ในทุกครั้งที่มาทำระบบการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน เราต้องนั่งเรือหางยาวของชาวบ้านจากท่าเรือทุ่งริ้นมาที่เกาะยะระโตดนุ้ย ใช้เวลา 40 นาที บรรยากาศสองฝากฝั่งเต็มไปด้วยป่าชายเลนที่สมบูรณ์มาก ในทางกลับกันถ้าวันไหนโชคร้ายน้ำลดลงมาก เรือไม่สามารถเข้ามาถึงเกาะได้ เราต้องเดินลุยน้ำจากฝั่งที่ห่างจากเกาะมาก ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ในการทำงานที่ดีมาก ไม่สามารถหาซื้อที่ไหนได้เลย เกาะยะระโตดนุ้ยเป็นเกาะเล็กๆ ส่วนสภาพโรงเรียนโดยรอบสะอาดมาก เด็กนักเรียนที่นี่น่ารักทุกคน มีสัมมาคารวะและอ่อนน้อม ทุกครั้งที่เจอผู้ใหญ่กว่าจะยกมือไหว้และกล่าวสวัสดีคะ หรือสวัสดีครับ
แปลงผักไร้ดินในทะเลอันดามัน
ก่อนเริ่มทำระบบการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน เราได้จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่เหลือใช้และหาได้ง่ายในท้องถิ่น เพื่อจัดสร้างระบบการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินอย่างง่ายที่ใช้ได้จริง และเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินไม่ได้แพงอย่างที่ใครอีกหลายคนคิด และสามารถทำได้ง่ายถ้ารู้จักประยุกต์ใช้วัสดุที่มีให้เกิดประโยชน์อย่างที่เราได้ทำให้โรงเรียนแห่งนี้
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับระบบการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน สามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านค้าที่ขายอุปกรณ์ก่อสร้างและอุปกรณ์การเกษตร หรือเป็นวัสดุเหลือใช้ ซึ่งมีดังนี้
ไม้โกงกาง ขนาด 3-4 นิ้ว 8 ต้น ใช้เป็นเสาโรงเรือนและขาโต๊ะสำหรับวางระบบการปลูกพืช ในพื้นที่นี้มีปริมาณฝนตกชุกและมีมรสุมเข้าตลอดเวลา ดังนั้น การสร้างโรงเรือนเป็นการป้องกันต้นพืชไม่ให้ถูกฝน ผลผลิตที่ได้จะไม่เสียหายจากการโดนเม็ดฝนกระแทก คือ ไม่ช้ำนั่นเอง
กระเบื้องลอนคู่ หาได้จากการก่อสร้างอาคารเรียนที่เสร็จแล้วและไม่ได้ใช้ประโยชน์นั่นเอง เพื่อนำมาใช้เป็นรางปลูกพืช ให้ต้นพืชสามารถเจริญเติบโตได้
พลาสติกใส หนา 150 ไมคอน ความยาวแล้วแต่ขนาดของโรงเรือน นำมาทำเป็นหลังคา ส่วนพลาสติกดำ หนา 150 ไมคอน หน้ากว้าง 2 เมตร ใช้เป็นวัสดุรองรับการไหลของน้ำ
ท่อต่างๆ ที่ต้องใช้ คือ ท่อพีอีขนาด 16 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นท่อหลักใช้ต่อน้ำจากปั๊มเข้าสู่ระบบการปลูก ท่อไมโคร เป็นท่อย่อยเพื่อแยกน้ำจากท่อหลักมาสู่รางปลูก ท่อพีวีซีขนาด 2 นิ้ว และ 4 นิ้ว เพื่อรองรับน้ำจากรางปลูกให้ไหลลงสู่ถังรับน้ำ ตัวเจาะพีอี และท่อ 4 หุน ใช้เป็นที่ยึดพลาสติกไม่ให้หย่อน และไม่ให้เกิดอาการตกท้องช้าง เป็นแอ่ง เวลาฝนตก
ปืนยิงกาวซิลิโคนและกาวซิลิโคน ใช้อุดรอยรั่วของน้ำตามข้อต่อท่อ เพื่อไม่ให้มีการรั่วซึมของน้ำในท่อรับน้ำ
แผ่นโฟม หนา1 นิ้ว คอยพยุงลำต้นพืชแทนดิน ป้องกันไม่ให้พืชล้ม ตัวหนีบผ้า ไว้หนีบพลาสติกดำไม่ให้ลมตีกระพือ ฟองน้ำหนา 1 นิ้ว เป็นวัสดุเพาะกล้า พร้อมถาดวางแก้ว โดยใส่ฟองน้ำไว้ในถาดเพื่อให้มีน้ำขังอยู่ในนั้น เป็นการเพิ่มความชื้น
ถังน้ำขนาด 120 ลิตร จำนวน 2 ถัง เพื่อเป็นวัสดุรองรับสารละลายธาตุอาหารพืชในระบบทั้งหมด และสิ่งจำเป็นอีกอย่าง คือ ปั๊มน้ำ ขนาด 2,500 AP เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำในระบบ อันนี้หาซื้อได้ตามร้านขายปลาสวยงามทั่วไป
การปลูกพืชไม่ใช้ดินที่นี่เลือกใช้ระบบการปลูกพืชในสารละลาย แบบเอ็นเอฟที เพราะเป็นระบบที่ใช้น้ำน้อย มีการไหลเวียนของน้ำในระบบน้อย เหมาะสมกับโรงเรียนบนเกาะ เพราะมีน้ำน้อยและมีพื้นที่ขนาดเล็ก
ประสบการณ์ของชาวบ้าน ครู และนักเรียน
เมื่อได้อุปกรณ์ครบถ้วนแล้วก็ลงมือทำได้เลย เริ่มแรก เป็นการทำโต๊ะสำหรับปลูกผัก เราช่วยกันเลื่อยไม้โกงกาง ที่เตรียมไว้ให้มีขนาดความยาว 90 เซนติเมตร ประมาณ 10 ท่อน ทำเป็นขาโต๊ะ ขุดหลุมเพื่อฝังขาโต๊ะลึกประมาณ 30 เซนติเมตร 10 หลุม ระยะห่างระหว่างขาโต๊ะประมาณ 2 เมตร ความยาวของโต๊ะประมาณ 8 เมตร ความกว้าง 2 เมตร เมื่อได้ขาโต๊ะแล้ว นำไม้โกงกางวางพาดตามยาวเพื่อเป็นคาน และวางกระเบื้องลอนคู่ทับลงไป
ส่วนการขึ้นโครงหลังคา ใช้ไม้โกงกางสูงประมาณ 2 เมตร ทั้งหมด 6 ท่อน โดยนำมาฝังลงหลุมที่ขุดเตรียมไว้ 6 หลุม ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วขึ้นโครงในรูปแบบเพิงหมาแหงน เพื่อให้น้ำไหลสะดวก ทำเป็นระแนง ห่างกันประมาณ 1 เมตร เพื่อรองรับพลาสติกหลังคาโรงเรือนและให้มีความกว้างและยาวของโครงหลังคาเพียงพอที่จะสามารถคลุมโต๊ะปลูกผัก
การขึงพลาสติกใสบนหลังคา นำลวดมามัดท่อพีวีซีขนาด 4 หุน ให้ติดรอบคานหลังคา แล้วนำพลาสติกมาขึงบนหลังคา ดึงพลาสติกให้ตึง ใช้ปะกับ 4 หุนยึดพลาสติกกับท่อพีวีซี 4 หุน
การเตรียมรางปลูก ใช้แผ่นกระเบื้องลอนคู่มาวางเรียงกันบนโต๊ะ จากนั้นปูพลาสติกดำบนแผ่นกระบื้อง จัดพลาสติกดำให้แนบกับลอนกระเบื้อง แล้วนำตัวหนีบผ้ามาหนีบพลาสติกดำกับกระเบื้องไว้ด้วยกัน ตัดโฟมให้มีขนาด 10 x 100 เซนติเมตร เจาะรูโดยเว้นระยะห่างระหว่างรูประมาณ 10 เซนติเมตร และนำไปวางบนร่องของลอนกระเบื้อง มีหน้าที่เป็นตัวพยุงลำต้นพืชแทนดิน
การเตรียมระบบรับน้ำ นำท่อพีวีซี 4 นิ้ว มาตัดผ่าตามแนวยาวของท่อให้เหลือ 3/4 ของท่อ เพื่อทำเป็นรางรับน้ำ นำไปวางท้ายรางปลูก จากนั้นนำพลาสติกดำส่วนที่เลยออกมาจากกระเบื้องมาปูไว้ในท่อเพื่อให้น้ำไหลลงรางรับน้ำสะดวก ไม่รั่วออกจากรางปลูก
การติดตั้งระบบน้ำ ขุดหลุมฝังถัง 120 ลิตร จำนวน 2 ถังให้อยู่ใต้ระบบ คือแผ่นกระเบื้องลอนคู่ที่วางไว้ เพื่อรองรับน้ำ และในถังนี้จะมีปั๊มน้ำที่คอยดูดน้ำเข้าสู่ระบบการปลูกพืช เพื่อให้เกิดการไหลเวียนในระบบปลูก การไหลเวียนนี้เองจะช่วยให้เกิดออกซิเจนในน้ำเพื่อให้พืชดูดใช้ได้
การเพาะกล้า ใช้ฟองน้ำหนา 1 นิ้ว ความยาวตามขนาดถาดรองแก้ว กรีดฟองน้ำเป็นรูปตารางหมากรุก ไม่ให้ขาดออกจากกัน ขนาด 1 x 1 นิ้ว และกรีดตรงกลางตารางหมากรุกเล็กน้อย เพื่อให้ใส่เมล็ดพันธุ์ได้ จากนั้นนำไปแช่น้ำแล้วบิดให้หมาด หยอดเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการปลูกลงในช่อง จากนั้นนำไปไว้ที่มืด 3 วัน เมื่อเมล็ดเริ่มงอก นำออกมาให้โดนแดด พยายามรดน้ำให้มีความชื้นตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ต้นกล้าตาย
การย้ายปลูก เมื่อต้นกล้าอายุ 14-21 วัน หรือมีใบจริงประมาณ 2 ใบ ก็สามารถย้ายปลูกลงในระบบได้ ต้นกล้าที่สมบูรณ์แข็งแรงจะมีรากขาวให้เห็น แยกต้นกล้าพร้อมฟองน้ำใส่ลงในช่องโฟมที่เจาะไว้ ให้รากแช่อยู่ในน้ำตลอดเวลา ถ้าไม่โดนน้ำจะแห้งตาย แล้วให้สารละลายธาตุอาหารพืชลงในน้ำ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนสารละลายในระบบจากการไหลเวียนของน้ำ
การเก็บเกี่ยว ถ้าพืชที่ปลูกเป็นผักบุ้ง เมื่ออายุได้ประมาณ 2028 วัน ก็สามารถเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ สำหรับผักอื่นๆ ใช้เวลาประมาณ 3035 วันหลังย้ายปลูกก็สามารถเก็บผลผลิตได้เช่นกัน
การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินนี้ เป็นที่สนใจของเด็กนักเรียน ครูอาจารย์ และชาวบ้านบนเกาะ เป็นอย่างมาก ชาวบ้านได้มาช่วยงานก่อสร้างงานระบบและศึกษาวิธีการทำด้วย ทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้การปลูกพืชแบบใหม่ที่มูลนิธิชัยพัฒนานำไปเผยแพร่ และถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กนักเรียน ครูอาจารย์ และชาวบ้าน
โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเข้าไปพัฒนาในครั้งนี้จะช่วยสร้างเสริมสุขภาพและพลานามัยที่สมบูรณ์แก่เด็กนักเรียนจากการบริโภคผัก ที่สด สะอาด ปลอดภัยจากสารพิษ และที่สำคัญ มาจากฝีมือการเพาะปลูกของพวกเขาเอง