- หน้าแรก
- เอกสารเผยแพร่
- บทความที่น่าสนใจ
- แนะนำ...โครงการอุทยานการอาชีพ
แนะนำ...โครงการอุทยานการอาชีพ
รองศาสตราจารย์อุมา สุคนธมาน
จาก การที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสภาพพื้นที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ถึงสองครั้ง พร้อมทั้งพระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนาที่ดินโดยส่งเสริมให้เป็นศูนย์ วิชาการและข้อมูลทางด้านการพัฒนาอาชีพต่าง ๆ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาจึงได้รับสนองพระราชดำริ ดำเนินการศึกษารูปแบบและแนวทางการจัดตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าว โดยปรึกษาหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบุคคลในพื้นที่ ตลอดจนการประมวลผลการศึกษาข้อมูล สรุปได้ว่า ท้องถิ่นมีความต้องการหลักสูตรการฝึกอาชีพระยะสั้นที่มีความหลากหลายและ บริการวิชาการ อาทิ ห้องสมุดประชาชนที่ทันสมัย สถานที่สำหรับการสัมมนาและกิจกรรมวิชาการ สถานที่ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งการให้บริการทางสังคมแก่ท้องถิ่น จากข้อมูลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของโครงการ อุทยานการอาชีพ
ร้อยเรื่องเมืองปฐมและอำเภอเมือง
ก่อน จะนำเสนอโครงการฯ โดยสังเขป ใคร่ขอแนะนำให้รู้จักสภาพทั่วไปของจังหวัดนครปฐม และอำเภอเมืองสักเล็กน้อย จังหวัดนครปฐม เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางด้านตะวันตก และเป็นจังหวัดปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน มีพื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก ประมาณ 1,355,204 ไร่ หรือเท่ากับร้อยละ 0.42 ของประเทศ อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร เพียง 56 กิโลเมตรเท่านั้น มีเขตการปกครอง 7 อำเภอ 106 ตำบล 929 หมู่บ้าน ประชากร มีรวมทั้งสิ้น 798,016 คน (พ.ศ.2547) ร้อยละ 32 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่รายได้ส่วนใหญ่ของจังหวัดมาจากด้านการเกษตรอุตสาหกรรม กล่าวคือ เป็นแหล่งผลิตอาหารสู่การเป็นครัวโลก มีโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ โดยสรุปศักยภาพของจังหวัดนครปฐมในส่วนที่เป็นจุดแข็ง นอกจากเป็นจังหวัดปริมณฑลใกล้กรุงเทพฯ แล้ว ยังเป็นศูนย์การศึกษา เป็นศูนย์การศาสนา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เป็นศูนย์การแพทย์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เส้นทางการคมนาคมและการขนส่งสะดวกทั้งทางบกและทางน้ำ อีกทั้งยังเป็นเมืองผลิตอาหารสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมที่ปลอดภัย จากการกระจายความเจริญของกรุงเทพมหานคร และการเคลื่อนย้ายประชากรสู่จังหวัดนครปฐม ทำให้จังหวัดขยายตัวในทุกด้านอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการ อุตสาหกรรม ด้านการบริการ ด้านการเงิน (มีสถาบันการเงิน 68 แห่ง) และด้านการศึกษา มีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศิลปากร มหิดล คริสเตียน ราชภัฏ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล สถาบันการศึกษาของตำรวจ และทหาร 3 เหล่าทัพ รวมทั้งสถาบันการศึกษาระดับอาชีวศึกษาอีก 12 แห่ง
อำเภอ เมืองนครปฐมเป็นหนึ่งใน 7 อำเภอของจังหวัด เป็นอำเภอชั้นพิเศษ มีพื้นที่ 260,900 ไร่ ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลอง พื้นที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นด้านเกษตรกรรม แบ่งเขตการปกครองเป็น 24 ตำบล 214 หมู่บ้าน หนึ่งในตำบลดังกล่าวคือ ตำบลบ่อพลับ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการฯ และอยู่ไม่ห่างจากสถานที่ตั้งของอำเภอเท่าใดนัก อำเภอเมืองมีประชากร 172,062 คน ส่วนใหญ่ร้อยละ 83 ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม นอกนั้น รับราชการ รับจ้างบริการ พาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอาชีพดังกล่าวสามารถทำความเจริญทางด้านเศรษฐกิจให้อำเภอและจังหวัด เป็นแหล่งรองรับการขยายตัวของกรุงเทพมหานคร และเป็นแหล่งรวมวัตถุดิบด้านอาหาร แหล่งพาณิชยกรรมของอำเภอที่สำคัญ เช่น โรงแรม 16 แห่ง ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ 2 แห่ง ห้างหุ้นส่วน / บริษัท 1,122 แห่ง ธนาคาร / สถาบันการเงิน 37 แห่ง และโรงงานอุตสาหกรรม 428 โรง เป็นต้น ในส่วนของการศึกษา นอกจากจะเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของจังหวัด โดยมีสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนในระดับอุดมศึกษา มัธยมศึกษา และปรถมศึกษาหลายแห่งแล้วอำเภอเมืองยังมีศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน 1 แห่ง กลุ่มฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น 33 กลุ่ม ที่อ่านหนังสือพิมพ์ ประจำหมู่บ้าน 24 แห่ง และห้องสมุดประชาชน 1 แห่ง
มารู้จักโครงการฯ กันเถอะ
โครงการ อุทยานการอาชีพ เป็นโครงการพัฒนาทีดินมูลนิธิชัยพัฒนาที่ได้ดำเนินการศึกษารูปแบบและแนวทาง การดำเนินการจัดตั้งตามแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการส่งเสริมให้เป็นแหล่งวิชาการ และแหล่งข้อมูลทางด้านการพัฒนาอาชีพต่าง ๆ รวมทั้งเป็นแหล่งอบรมในเรื่องวิชาชีพที่หลากหลายแก่เยาวชนและประชาชนผู้สนใจ และสามารถสนองตอบต่อความต้องการของท้องถิ่นได้โดยตรง
ปรัชญาและกลยุทธ์ โครงการฯ ได้อัญเชิญพรพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชนิพนธ์ไว้ใน พระมหาชนก โดยมีพระราชประสงค์ให้แก่พสกนิกรของพระองค์ใจความว่า ...ขอจงมี ความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์... มาเป็นปรัชญานำทางในการจัดและดำเนินการโครงการอุทยานการอาชีพ พร้อมทั้งกำหนดกลยุทธ์ของโครงการฯ โดยให้สนองตอบความต้องการของท้องถิ่น ประสานสัมพันธ์ตามแนวพระราชดำริ บวร ยึดมั่นการพัฒนาที่ยั่งยืน และ ศึกษางานอาชีพหลากหลายรูปแบบ จะเห็นได้ว่า กลยุทธ์ดังกล่าวสอดคล้องกับแนวพระราชดำริ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
วัตถุ ประสงค์ เพื่อเป็น แหล่งวิชาการและข้อมูลด้านการอาชีพปลูกฝังแนวพระราชดำริ อนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นบริการทางสังคม และ ต้นแบบของแหล่งการเรียนรู้
องค์ ประกอบโครงการ การจัดอุทยานการอาชีพ มุ่งเน้นการจัดกิจกรรม เพื่อให้เยาวชนและประชาชนได้พบปะแสวงหาและแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันในรูปแบบ ที่หลากหลาย เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจเพื่อพัฒนาสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสติปัญญาของประชาชน รวมทั้งเป็นแหล่งสันทนาการเพื่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน อุทยานการอาชีพมีองค์ประกอบ 2 ด้านได้แก่ ด้านวิชาการ และด้านสนับสนุนวิชาการ
- ด้านวิชาการ ประกอบด้วย หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น 4 ลักษณะ คือ หลักสูตรต่อยอด หลักสูตรยอดนิยม หลักสูตรตามสั่ง และหลักสูตรประเทืองปัญญา กลุ่มเป้าหมาย คือแม่บ้าน นักธุรกิจ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจ การบริการวิชาการ มีบริการที่สำคัญ คือ ห้องสมุดประชาชนสมัยใหม่ ห้องปฏิบัติการทางภาษา (Self access center) ห้องคอมพิวเตอร์หรือห้อง IT ห้องสัมมนาวิชาการ นิทรรศการ และสันทนาการ
- ด้านสนับสนุนวิชการ เป็น การบริหารจัดการเชิงธุรกิจเพื่อให้อุทยานการอาชีพพึ่งตนเองได้ โดยจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นส่วนของสินค้าภายใต้โครงการในพระราชดำริ สินค้า/บริการจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ร้านอาหาร ร้านขายหนังสือ ร้านสะดวกซื้อ ตลอดจนร้านขายสินค้าจากผลิตผลของผู้ผ่านการอบรมจากหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น
ความหวังที่ไม่ไกลเกินเอื้อม
โครงการ อุทยานการอาชีพภายใต้ความรับผิดชอบและการสนับสนุนงบประมาณการลงทุนของ มูลนิธิชัยพัฒนา คาดว่าจากแนวพระราชดำริพระราชทานที่สนองความต้องการของท้องถิ่น จากรูปแบบที่พร้อมทั้งด้านวิชาการและด้านสนับสนุนวิชาการแบบครบวงจร รวมทั้งจากการบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน เป็นการเพิ่มพูนความสามารถ กระบวนการคิดและคุณธรรมจริยธรรมในการประกอบอาชีพ เป็นศูนย์รวมของประชาชนในการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิด เห็น และการร่วมกิจกรรม เป็นการเน้นให้เยาวชนเห็นคุณค่าของการศึกษาสายวิชาชีพและส่งเสริมการเรียน รู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตเป็นสถานที่ให้บริการชุมชนทั้งด้านวิชาการและสัน ทนาการเป็นต้นแบบของแหล่งการเรียนรู้ด้านการอาชีพ และประการสำคัญที่สุดคือ เป็นโครงการหนึ่งที่ทำให้ประชาชนรัก หวงแหนและภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเปี่ยมล้นด้วยความเมตตาอย่างหาที่สุดมิได้ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการ อุทยานการอาชีพ จะนำมาซึ่งประโยชน์สุขของชาวเมืองนครปฐมและผู้สนใจทุกคน โดยถ้วนหน้า
ขอจงทรงพระเจริญ